โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การกู้ชีพแก่ผู้สัมผัสวัตถุอันตรายและสารพิษ”

Toxicological and Hazmat Life Support – Asia Pacific Edition 2023 (THLS-AP 2023)



หลักการและเหตุผล

   วัตถุอันตราย หมายถึง วัตถุที่ทำให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์เมื่อเกิดการปนเปื้อนต่อคนหรือสิ่งแวดล้อม วัตถุอันตรายหมายรวมถึงสารเคมี สารชีวภาพ และสารกัมมันตรังสี ในสังคมปัจจุบัน มีการใช้วัตถุอันตรายต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรในปริมาณมาก การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย เช่น การผลิต จัดเก็บ ขนส่ง และนำไปใช้ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลและการปนเปื้อนได้เสมอ ดังนั้นแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางแพทย์ฉุกเฉินจึงควรมีความรู้และทักษะที่จะให้การดูแลผู้ประสบเหตุที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายได้อย่างดี ทั้งนี้ในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการปนเปื้อนวัตถุอันตรายมีข้อพิจารณาพิเศษบางประการที่แพทย์ฉุกเฉินควรตระหนักอันได้แก่

   1. การปนเปื้อนวัตถุอันตราย (hazardous material contamination) ผู้ป่วย สิ่งของหรือ สถานที่ ที่ถูกปนเปื้อนมาเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายการปนเปื้อนนั้นทางการสัมผัส ทางกระแสลม หรือกระแสน้ำที่พัดพาสิ่งปนเปื้อน การที่บุคคลหรือสิ่งของที่ถูกปนเปื้อนแพร่กระจายการปนเปื้อนต่อไปยังบุคคล สิ่งของ อาคารสถานที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย ความสูญเสียของอุปกรณ์หรือสถานที่หรือทำให้ต้องเสียเวลาและบุคคลากรในการชำระการปนเปื้อน ดังนั้นจุดประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยจากการปนเปื้อนวัตถุอันตราย ได้แก่ การให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีและการควบคุมไม่ให้เกิดการปนเปื้อนทุติยภูมิไปยังบุคลากร ผู้ป่วย สิ่งของ และ อุปกรณ์

   2. การมีผู้ประสบเหตุและผู้ป่วยจำนวนมากทำให้ต้องมีการจำแนก (triage) ผู้ป่วยอย่างเหมาะสมเพื่อให้การจัดสรรบุคคลากร เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่มักมีอย่างจำกัดในระยะฉุกเฉินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้อพิจารณาพิเศษเหล่านี้ทำให้การดูแลผู้ป่วยจากกรณีอุบัติภัยวัตถุอันตรายมีขั้นตอนที่จำเป็นที่อาจแตกต่างจากเวชปฏิบัติทั่วไปร่วมกับมีการประยุกต์ใช้หลักการทางพิษวิทยาในการดูแลผู้ป่วย

   จากสถิติที่เก็บรวบรวมเรื่องรายงานเหตุการณ์ฉุกเฉินและอุบัติภัยสารเคมีโดยกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ถึง 2554 และสถิติจากศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.2551-2555 พบว่าเหตุการณ์วัตถุอันตรายรั่วไหลส่วนใหญ่จะเกิดในโรงงานอุตสาหกรรม โกดังจัดเก็บ ระหว่างการขนส่ง เช่น บนถนนหรือที่ท่าเรือ การลักลอบทิ้งกากวัตถุอันตราย และห้องปฏิบัติการ ในแต่ละเหตุการณ์อาจมีผู้ประสบภัยรายเดียวหรือหลายสิบราย นอกจากนี้สถิติกรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินและอุบัติภัยสารเคมีได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

   ดังนั้นทางคณะผู้จัดจึงจัดการจัดอบรม “การกู้ชีพแก่ผู้สัมผัสวัตถุอันตรายและสารพิษ” ขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้และเพิ่มพูนทักษะในการเตรียมพร้อมและการปฏิบัติการในสถานการณ์ดังกล่าว โดยจัดให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงที่พบบ่อยในประเทศไทย ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ต่างๆ


วัตถุประสงค์

   1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยจากวัตถุอันตรายและสารพิษ

   2. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการเตรียมความพร้อมแก่ห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยจากวัตถุอันตรายและสารพิษ


ผลที่คาดว่าจะได้รับ

   1. บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นเป้าหมายของหัวข้อการอบรมได้รับข้อมูลความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยจากกรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินและอุบัติภัยสารเคมี

   2. บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นเป้าหมายของหัวข้อการอบรมได้รับข้อมูลความรู้และทักษะในการเตรียมความพร้อมแก่ห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยจากวัตถุอันตรายและสารพิษ


สำหรับแพทย์จะได้รับ CME = 17 หน่วยกิต