หลักการและเหตุผล
การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคทางโลหิตวิทยาที่มีความผิดปกติของเซลล์ในไขกระดูกและโรคทางพันธุกรรมบางชนิด ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาที่มีความซับซ้อนและความเสี่ยงสูง ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังผู้ป่วยในช่วงระหว่างการรักษา เช่น ภาวะ Graft versus host disease, sinusoidal obstruction syndrome, oral mucositis และ cytokine release syndrome เป็นต้น นอกจากนั้นจากผลของการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดขนาดสูง ทำให้ผู้ป่วยเกิด prolong febrile neutropenia ผู้ป่วยเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อและมีโอกาสเสียชีวิตสูง ปัจจุบันผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่พยาบาลเฉพาะทางที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมีจำกัด ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะเฉพาะทางสำหรับพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยพัฒนาความรู้ของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย ส่งเสริมบทบาท ยกระดับวิชาชีพพยาบาลให้ดีขึ้น และเป็นการสร้างเครือข่ายพยาบาลดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในประเทศไทย
วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถเฉพาะทางของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดให้ครอบคลุมแบบองค์รวม มีความทันสมัยและได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงสามารถเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์และวางแผนในการดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดทั้งจากเซลล์ตนเองและจากผู้บริจาคได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมตามบริบทของหน่วยงาน
2. ผู้ผ่านการอบรมสามารถถ่ายทอดความรู้และทักษะที่ได้จากการอบรมแก่ผู้ร่วมงานและให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาในหน่วยงานได้
3. เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ยกระดับวิชาชีพ และสร้างเครือข่ายพยาบาลดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในประเทศไทย