หลักการและเหตุผล
โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ระบุว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองมากกว่า 20 ล้านคน และ 80% ของการเสียชีวิตสามารถป้องกันได้ ( กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2566 )สำหรับสถานการณ์ของโรคนี้ในประเทศไทย จากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 7 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้ป่วยทุกรายที่อยู่ในภาวะวิกฤตของชีวิต จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จากบุคลากรทางการพยาบาล สามารถจัดการกับปัญหาและติดตามความเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยและคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้ถูกต้องแม่นยำ อีกทั้งความก้าวหน้าด้านวิชาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วนำมาซึ่งแนวทางการรักษาที่ต้องมี การพัฒนาความรู้และทักษะเฉพาะทางรวมทั้งการใช้เครื่องมืออุปกรณ์พิเศษชนิดใหม่ๆ ในการวินิจฉัยและบำบัดผู้ป่วยที่มีปัญหาวิกฤตและซับซ้อน พยาบาลจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ งานการพยาบาลอายุรศาสตร์และจิตเวชศาสตร์ร่วมกับฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแล ผู้ป่วยวิกฤตทางหัวใจและหลอดเลือดขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ใน การดูแลผู้ป่วย เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย อีกทั้งเกิดความมั่นใจและมีสมรรถนะในการให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ของโครงการ
พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ หลักการในการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบหัวใจและหลอดเลือดในระยะวิกฤต สามารถให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมให้สอดคล้องกับวิธีการรักษาด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัวได้
ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ
1. ผู้เข้าอบรมนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
2. ผู้เข้าอบรมนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ร่วมงานและให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติ
3. เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้ารับการอบรมในการดูแลผู้ป่วย