ศูนย์โรคอ้วนและเมตาบอลิกศิริราช

นวัตกรรมการแพทย์ล้ำสมัย เพื่อการรักษาโรคอ้วนอย่างยั่งยืนด้วยสหวิทยาการ

ผศ. นพ.วรบุตร ทวีรุจจนะ
ประธานศูนย์โรคอ้วนและเมตาบอลิกศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาวะความอ้วนไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง หรือเป็นเพียงเรื่องล้อเลียนในวัยเด็ก ในความเป็นจริงแล้วโรคอ้วนเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพผู้คนนับล้านทั่วโลก ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะความอ้วนจำนวนมาก ทั้งโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะหลับ ตับคั่งไขมัน ไปจนถึงการเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางประเภท เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยรายงานขององค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุว่า โรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่พรากชีวิตผู้คนก่อนวัยอันควร รวมทั้งเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพสำคัญระดับโลกที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่สายตาคนภายนอกมองว่าความอ้วนเป็นเพียงแค่สภาวะ “น้ำหนักเกินมาตรฐาน” หากแต่ในความเป็นจริงนั้น ภาวะความอ้วนคือจุดเริ่มต้นของวงจรโรคร้ายที่สามารถบ่อนทำลายชีวิตหากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง

โรคอ้วนคืออะไร?

“โรคอ้วน”(Obesity) คือภาวะการสะสมไขมันที่มากเกินไปของร่างกาย โดยมีมาตรฐานดัชนีมวลกายเป็นตัวชี้วัด โดยผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายที่สูงกว่า 25 กก./ตร.ม. แสดงถึงภาวะน้ำหนักเกิน และผู้ที่มีดัชนีมวลกายสูงกว่า 30 กก./ตร.ม. จัดว่ามีภาวะโรคอ้วน ในทางปฏิบัติแล้ว ปัญหาโรคอ้วนสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากปัจจัย ทั้งปัจจัยพฤติกรรม อันได้แก่ การบริโภคอาหารพลังงานสูง ทั้งแป้ง น้ำตาล และไขมันในปริมาณมากจนเกินพอดี การใช้พลังงานที่ไม่สมดุลกับการบริโภค เช่น การขาดการออกกำลังกาย หรือแม้แต่การพักผ่อนน้อยและความเครียด ล้วนเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อความอยากอาหารและการเผาผลาญพลังงานซึ่งทำให้เกิดสภาวะความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักได้ นอกจากปัจจัยด้านพฤติกรรมแล้ว ปัจจัยทางพันธุกรรมยังเกี่ยวข้องกับโรคอ้วนอีกด้วย โดยพันธุกรรมของคนเรามีส่วนส่งผลต่อระบบการเผาผลาญและความอยากอาหารที่แตกต่างกัน

แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน

การดูแลรักษาโรคอ้วนเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Life style modification) ทั้งในด้านการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย รวมไปถึงการใช้ยาเพื่อลดน้ำหนัก (Pharmacotherapy) ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการรักษาเบื้องต้นนี้จะสามารถลดน้ำหนักของผู้ป่วยได้ประมาณร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักตัวตั้งต้น ผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือมีโรคอ้วนรุนแรงจะนำไปสู่ขั้นตอนของการรักษาด้วยการผ่าตัดลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) เช่น การผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะ (Sleeve gastrectomy) หรือการผ่าตัดบายพาส (Roun-en Y gastric bypass) ซึ่งถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงและสามารถให้ผลสำเร็จด้านการลดน้ำหนักได้ดีในระยะยาว นอกจากนี้ยังสามารถรักษาโรคร่วม (Co-morbidities) ให้มีโอกาสหายขาดได้โดยเฉพาะโรคเบาหวาน นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีสมัยใหม่คือการทำหัตถการส่องกล้องเพื่อลดน้ำหนัก เช่น การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร (Intragastric balloon) หรือการส่องกล้องเย็บกระเพาะให้มีขนาดเล็กลง (Endoscopic sleeve gastroplasty) เพื่อเป็นทางเลือกในการลดน้ำหนักและรักษาโรคร่วมของผู้ป่วยโรคอ้วนอีกด้วย

ศูนย์โรคอ้วนและเมตาบอลิกโรงพยาบาลศิริราช

ด้วยปัญหาความซับซ้อนและความหลากหลายของปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการต่อสู้กับภาวะความอ้วนของคนไทย อันมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์โรคอ้วนและเมตาบอลิกศิริราช (Siriraj Obesity and Metabolic Diseases Center; SiOMC) ภายใต้การนำของ ผศ.นพ.วรบุตร ทวีรุจจนะ  เพื่อเป็นศูนย์กลางการในการให้บริการการตรวจวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนและเมตาบอลิกแบบครบวงจร ด้วยรูปแบบ one-stop service ที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการดูแลที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยศูนย์แห่งนี้จะดำเนินงานโดยทีมผู้เชี่ยวชาญในสหสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ได้แก่ ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร อายุแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม และอายุรแพทย์สาขาโภชนศาสตร์คลินิก นักโภชนาการ และนักภายภาพบำบัด นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการรักษาที่ทันสมัย  เช่น การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนโดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic surgery) หรือการให้หัตถการส่องกล้องลดขนาดของกระเพาะอาหาร (Endoscopic sleeve gastroplasty) ซึ่งโรงพยาบาลศิริราชถือเป็นผู้นำในการทำหัตถการนี้เป็นที่แรกของประเทศไทย ทำให้ศูนย์แห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนอย่างมีมาตรฐาน และเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมและพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันทางการแพทย์ระดับโลก เพื่อพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโรคอ้วนและเมตาบอลิกในประเทศไทย

กรณีการรักษาตัวอย่าง ลดน้ำหนักผู้ป่วยหญิงน้ำหนักเกิน 300 กก.

ที่ผ่านมาทางศูนย์ได้ทำการรักษาเคสผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีความซับซ้อนจำนวนมาก โดยมีกรณีรักษาตัวอย่างคือ การรับดูแลผู้ป่วยหญิงวัย 36 ปีจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่า 300 กก. ซึ่งถือเป็นภาวะความอ้วนที่มีความเสี่ยงและความซับซ้อนในการรักษาสูง โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีภาวะแทรกซ้อนด้านการหายใจ และความผิดปกติของหัวใจมาก่อน ศูนย์โรคอ้วนและเมตาบอลิกศิริราชได้วางแนวทางการรักษาอย่างละเอียดตั้งแต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยคำนึงไม่ให้เกิดความเหนื่อยล้าและภาวะแทรกซ้อน ก่อนวางแผนรักษา โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ การตรวจเช็คสุขภาพ ตรวจเลือดและระบบอวัยวะภายใน รวมไปถึงประเมินภาวะการนอนหลับ โดยในการรักษาระยะแรกผู้ป่วยจะต้องเข้าโปรแกรมควบคุมอาหาร และออกกำลังกายภายใต้การดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด ก่อนจะเข้าสู่การรักษาระยะที่ 2 เมื่อน้ำหนักคนไข้ลดต่ำกว่า 250 กก. และทีมแพทย์ประเมินว่าสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย คนไข้จะถูกรักษาโดยการเข้ารับการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ โดยมีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดซึ่งทำให้การผ่าตัดผนังหน้าท้องที่มีความหนากว่าปกติของผู้ป่วยโรคอ้วน มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ปัญหาโรคอ้วน ซึ่งเป็นโรคพฤติกรรมสามารถรักษาและแก้ไขอย่างปลอดภัยได้ ภายใต้การดูแลของทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญทางเวชศาสตร์การแพทย์ สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถาม และขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (FB: Siriraj Obesity and Metabolic Diseases Center)