เทคนิคการฉีดยาโดยใช้ภาพอัลตราซาวนด์นำการฉีดฟีนอลเข้าแขนงประสาทสั่งการเพื่อรักษากล้ามเนื้อหดเกร็ง

 รศ. พญ.ธีรดา พลอยเพชร
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู

       กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคระบบประสาท เช่น เด็กสมองพิการ ผู้ป่วยอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองและไขสันหลังบาดเจ็บ การเกร็งเปรียบเสมือนเบรกที่คอยดึงต้าน ส่งผลให้ผู้ป่วยขยับตัวได้ลำบาก รบกวนการเดิน การหยิบจับสิ่งของ หากเกร็งรุนแรงอาจทำให้ปวด อีกทั้งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ข้อยึดติด ผิวหนังบริเวณข้อพับติดเชื้อราจากการทำความสะอาดได้ยาก

        การฉีดยาลดเกร็งเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้รักษากล้ามเนื้อหดเกร็งเฉพาะที่ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ป่วยมีปัญหาข้อเท้าเขย่ง มือกำเกร็งแน่น ขาไขว้กันจนเหยียดยืดไม่ออก ยาฉีดที่ใช้ได้ผลดีในปัจจุบันคือโบทูลินุมท็อกซิน (Botulinumtoxin-A) แต่มีราคาแพงและเบิกไม่ได้ทุกสิทธิ์การรักษา ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ขาดโอกาสที่จะได้รับยา สำหรับยาฉีดอื่นๆ ที่เคยใช้ฉีดลดเกร็ง ได้แก่ ฟีนอลและแอลกอฮอล์ จัดว่าเป็นยาที่ใช้ได้ผล ราคาถูก และเบิกได้ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้ เนื่องจากการฉีดต้องอาศัยผู้ฉีดที่ชำนาญ จึงจะสามารถฉีดยาได้ตรงตำแหน่งเส้นประสาทซึ่งมีขนาดเล็กมาก เพื่อระงับสัญญาณที่สั่งการไปยังกล้ามเนื้อที่มีปัญหาเกร็ง อีกทั้งมักมีเส้นประสาทรับความรู้สึกและหลอดเลือดอยู่ในบริเวณใกล้เคียง การฉีดที่ไม่แม่นยำเพียงพออาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ ผู้ป่วยมีอาการชา ปวดเสียวเส้นประสาท และบวมช้ำได้

        ปัจจุบันมีการนำเครื่องอัลตราซาวนด์ (ultrasound) มาใช้ร่วมกับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อช่วยนำทางการฉีดยาได้แม่นยำขึ้น โดยภาพจากคลื่นเสียงความถี่สูงช่วยให้แพทย์มองเห็นแขนงประสาทสั่งการที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ อีกทั้งช่วยให้สามารถวางแผนการฉีด เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินเข็มฉีดยาพลาดเข้าเส้นประสาทรับความรู้สึกและหลอดเลือดข้างเคียง ทำให้สามารถลดการเกร็งของกล้ามเนื้อและผลข้างเคียงได้