โมเดลจำลองการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่จากการใช้เลือดครบส่วน
(Whole Blood) ประสบความสำเร็จ เป็นครั้งแรกของโลก

 รศ. ดร. พญ. ปนิษฎี อวิรุทธ์นันท์
ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

      โรคไข้เลือดออก เป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อเขตร้อน ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่และมีการแพร่กระจายโดยอาศัยยุงลายบ้านเป็นพาหะ ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกได้ยกระดับเป็นปัญหาระดับโลก เนื่องมาจากการขยายตัวของประชากร การพัฒนาการคมมนาคม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และ ภาวะโรคร้อน ทำให้เชื้อเด็งกี่แพร่กระจายไปสู่ประเทศอื่นๆนอกเขตร้อนมากขึ้น โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น 70% ภายในระยะเวลา 30 ปี โดยการรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกนั้นเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เนื่องจากไม่มีทั้งยารักษาโรคไข้เลือดออก และวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีคุณภาพสูง ส่งผลให้เกิดภาระต่อบุคลากรทางการแพทย์ และภาระทางเศรฐกิจต่อทั้งครอบครัวผู้ป่วย และภาครัฐ การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพยาธิสภาพของโรคไข้เลือดออก เป็นหนึ่งในกลยุทธสำคัญสำหรับการพัฒนายารักษาและวัคซีนเพื่อควบคุมโรค อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยความซับซ้อนของสายพันธุ์ไวรัสเด็งกี่ที่มีถึง 4 สายพันธุ์ และการขาดโมเดลเซลล์หรือสัตว์ทดลองที่เหมาะสมในศึกษา ทำให้ข้อมูลกลไกการเกิดโรคไข้เลือดออกยังคงมีจำกัด เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนายาและวัคซีนควบคุมโรค

       ทางคณะผู้วิจัยนำโดย รศ.ดร.พญ. ปนิษฎี อวิรุทธ์นันท์ ประสบความสำเร็จในการสร้างโมเดลจำลองการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่จากการใช้เลือดครบส่วน (Whole Blood) โดยการใช้สารป้องกันการแข็งตัวของเลือดที่มีชื่อว่า “ฮิรูดิน (Hirudin)” ซึ่งจำเพาะต่อการต้านการแข็งตัวของเลือดโดยไม่มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันคอมพลิเมนท์ เป็นครั้งแรกของโลก ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร mBio volume 15 issue 12 และเผยแพร่ทางอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 ภายใต้ชื่อ “Whole-blood model reveals granulocytes as key sites of dengue virus propagation, expanding understanding of disease pathogenesis” โดยผลการศึกษาได้พบว่าไวรัสเด็งกี่สามารถติดเชื้อเข้าสู่เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ได้ในระดับที่แตกต่างกัน โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด monocytes และ neutrophils นั้นมีโอกาสติดเชื้อฯ สูงที่สุด รองลงมาคือเซลล์เม็ดเลือดขาว B cells, NK cells, T cells และเกล็ดเลือด ตามลำดับ ซึ่งการค้นพบการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด neutrophils นั้นเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ค้นพบในการศึกษานี้ นอกจากนี้เมื่อศึกษาลึกลงไปถึงระดับของการสร้างไวรัสใหม่จากเซลล์ที่ติดเชื้อ พบว่าเกล็ดเลือดนั้นไม่สามารถผลิตไวรัสในระดับที่ตรวจวัดได้ ซึ่งแตกต่างจากเซลล์ neutrophils ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไวรัสสูงที่สุด โดยคำนวนจากการที่เซลล์ neutrophils มีอัตราการสร้างไวรัสที่บกพร่อง (defective virus) ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเซลล์อื่นๆ ในระบบภูมิคุ้มกันที่พบการติดเชื้อฯ

       ความสำเร็จในการพัฒนาโมเดลจำลองการติดเชื้อในเลือดครบส่วนและองค์ความรู้ใหม่ที่ได้นี้ นำไปสู่โอกาสในการเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการตอบสนองทั้งในระดับเซลล์ และโปรตีนของระบบภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ รวมทั้งการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันกับเซลล์หรือโปรตีนอื่นในเลือด ซึ่งอาจจะนำไปสู่การค้นพบยาหรือวิธีการรักษาโรคไข้เลือดออกต่อไปในอนาคต อีกทั้งแบบจำลองดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาไวรัสชนิดอื่นที่มีกลไกการเกิดโรคเกี่ยวข้องกับเม็ดเลือดและระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ซึ่งในอดีตยังไม่เคยมีวิธีการใดที่สามารถใช้ศึกษาได้อีกด้วย