หลักการและเหตุผล

ในปัจจุบันรังสีวิทยามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในทางการแพทย์ โดยสามารถนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคและการบำบัดรักษา ในการใช้รังสีวิทยาจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งมีการพัฒนา อย่างรวดเร็ว รวมทั้ง มีการใช้สารเคมี เช่น  สารทึบรังสีชนิดต่างๆ  สารเภสัชรังสี ในการช่วยตรวจที่มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไปตามลักษณะพิเศษของการตรวจ อีกทั้งขั้นตอนและเวลาในการตรวจแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรในทีมสหสาขาวิชาชีพ  ได้แก่ รังสีแพทย์ นักฟิสิกส์ นักรังสีการแพทย์ และพยาบาลฯลฯ บุคลากร ในแต่ละวิชาชีพ จึงจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจทั้งในงานส่วนที่ตนเองรับผิดชอบและในงานของสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี  เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการตรวจรักษาที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงสุด พยาบาลเป็นบุคลากรหนึ่งในทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการใช้รังสีวิทยา ทั้งในการบริการทางรังสีวินิจฉัย  รังสีรักษา รังสีร่วมรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์   เป็นผู้ให้การดูแลผู้รับบริการอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการวินิจฉัยและการบำบัดรักษา พยาบาลรังสีวิทยา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรังสีวิทยาเป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถให้การพยาบาลผู้รับบริการที่เน้นการดูแลแบบองค์รวม ตั้งแต่การเตรียมผู้รับบริการเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการบำบัดรักษา  การพยาบาลระหว่างและภายหลังการวินิจฉัยและการบำบัดรักษา และการดูแลต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากการบริการทางรังสีวิทยาแต่ละวิธี  มักจะก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่ผู้รับบริการ หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ในระหว่างและภายหลังการตรวจวินิจฉัยและการบำบัดรักษา นอกจากนี้ ทักษะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้รับบริการทางรังสีวิทยา มีความเฉพาะเจาะจง จำเป็นต้องได้รับการเรียนรู้และฝึกทักษะให้เกิดความชำนาญ เพื่อให้การดูแลผู้รับบริการทางรังสีวิทยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที งานการพยาบาลรังสีวิทยา ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอให้บริการพยาบาลทางรังสีวิทยาโดยตรง จึงจัดหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลรังสีวิทยาขึ้นเพื่อฝึกอบรมพยาบาลที่ทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรังสีวิทยาทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้มีความรู้และความชำนาญเฉพาะทางด้านการพยาบาลรังสีวิทยาและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานประจำสามารถพัฒนาการดูแลผู้รับบริการทางรังสีวิทยาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นที่ยอมรับแก่ทีมสุขภาพและสังคมต่อไป

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. มีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับรังสี และการป้องกันอันตรายจากรังสี

2. มีความรู้และทักษะพื้นฐานด้านรังสีวินิจฉัย รังสีร่วมรักษา รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์

3. สามารถประเมินภาวะสุขภาพและวินิจฉัยทางการพยาบาลผู้รับบริการด้านรังสีวิทยา

4. สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อน การควบคุมการติดเชื้อ และการช่วยเหลือในภาวะฉุกฉินทางรังสีวิทยา

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1.ประกาศนียบัตรหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลรังสีวิทยา  

2.หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องสาขาการพยาบาลศาสตร์(CNEU) จำนวน 50 หน่วยคะแนน

3.หนังสือรับรองเป็นผู้ผ่านหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นสูง(ACLS) จากศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการช่วยชีวิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล