หลักการและเหตุผล

         อุบัติเหตุเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในลำดับต้นๆ ของประเทศไทย การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  จึงได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตติยภูมิ การดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุขึ้น  โดยมีนโยบายในการพัฒนารูปแบบและกำหนดมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ มีการกำหนดและจัดตั้งโรงพยาบาลที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ให้เป็น “ ศูนย์อุบัติเหตุ ” หรือ “ Trauma Center ” ขึ้น เพื่อดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ  ซึ่งมีศักยภาพพร้อมทั้งในด้านบุคลากร  อุปกรณ์ และสถานที่เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ซับซ้อนรุนแรงให้รอดพ้น จากภาวะคุกคามชีวิตได้อย่างปลอดภัย  มีแพทย์ในการรักษา ตลอด 24 ชั่วโมง  มีพยาบาลที่มีความรู้และทักษะความชำนาญในการให้การพยาบาลผู้บาดเจ็บ นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ (Improve Trauma Care)  โดยมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของพยาบาลที่ให้การพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุไว้ประการหนึ่งว่าจะต้องมีพยาบาลที่ผ่านการอบรม การช่วยชีวิตผู้ป่วยอุบัติเหตุขั้นสูง (ATLS : Advance Trauma Life Support) อยู่ในคณะบุคลากร (Trauma Team) ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุ  หน่วยผ่าตัดและตรวจโรคอุบัติเหตุ เป็นหน่วยงานหนึ่งใน “Trauma Center” ของโรงพยาบาลศิริราช และเป็นด่านแรกที่ต้องให้การดูแลผู้ป่วยในระยะวิกฤตฉุกเฉินซึ่งเป็นชั่วโมงทอง (Golden Hour) ในการรักษาชีวิตของผู้ป่วยให้รอดพ้นจากภาวะคุกคามชีวิต ดังนั้นงานการพยาบาลผ่าตัด จึงจัดโครงการฝึกอบรมการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุตามหลักการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุสากล ให้กับพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยผ่าตัดและตรวจโรคอุบัติเหตุขึ้น เพื่อให้มีสมรรถนะการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นแนวทางเดียวกันกับทีมในการดูแลผู้ป่วย และมีความสอดคล้องเกณฑ์มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุของศูนย์อุบัติเหตุ

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. พัฒนาความรู้และแนวทางในการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุตามหลักมาตรฐานสากล

2. พัฒนาสมรรถนะในการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล

3. พัฒนาศักยภาพและทักษะในการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุตามมาตรฐานสากล

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

          ผู้ป่วยอุบัติเหตุที่มารับบริการเกิดความมั่นใจและปลอดภัยจากการได้รับการดูแลและปฏิบัติการพยาบาลจากพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถตามหลักการมาตรฐานสากลและเกณฑ์มาตรฐานในการดูแลผู้ป่วย