หลักการและเหตุผล

         ในสถานการณ์ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็น โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพิ่มขึ้นสาเหตุอาจจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ปี 2565 มีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 63,694 ราย เป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านทางช่องท้องมากที่สุด 32,892 ราย ไม่นับรวมผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยวิธีอื่น และนโยบายของ สปสช. เน้นการส่งเสริมการล้างไตผ่านทางช่องท้อง เนื่องจากมีความสะดวกต่อผู้ป่วยและสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้ง่าย จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้สามารถปฏิบัติได้ที่บ้านด้วยตนเอง ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนและดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิต งานการพยาบาลอายุรศาสตร์และจิตเวชศาสตร์ร่วมกับฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลศิริราชตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับพยาบาล จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อถ่ายทอดความรู้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและพยาบาลผู้มีประสบการณ์ให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตที่ได้รับการล้างทางช่องท้องให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและพัฒนาบุคลากรผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานต่อไป

วัตถุประสงค์ของโครงการ

       พัฒนาบุคลากรพยาบาลให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมให้สอดคล้องกับวิธีการรักษาด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัวได้

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ผู้เข้าอบรมสามารถอธิบายหลักการ วิธีการและทำการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างทางช่องท้องได้

2. ได้พัฒนาตนเองด้านความรู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายในวิชาชีพด้านการพยาบาลผู้ป่วยที่ ได้รับการล้างไตผ่านทาง ช่องท้อง