ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคที่พบบ่อย
เตรียมตัวก่อนสูงวัย และสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี เน้นเทคนิคเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว และการปฎิบัติจริงเพื่อเสริมสร้างทักษะในการดูแลสุขภาพ และป้องกันโรค
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความป็นอยู่ของประชาชน ทำให้วิถีการดำรงชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงตามไป จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 พบว่า ปัญหาสุขภาพอันดับต้นของสังคมในปัจจุบัน คือ โรคที่เกิดจากพฤติกรรมทางสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีกลุ่มโรคที่พบบ่อยในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ คือ โรคกลุ่มที่เป็นความเสี่ยงของหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และกลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามการเปลี่ยนแปลงของอายุและกลุ่มโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น สมองเสื่อม ซึมเศร้า กระดูกพรุน ข้อเสื่อม หกล้ม มวลกล้ามเนื้อน้อย โดยโรคไม่ติดต่อเรื้องรังเกิดจากปัจจัยเสี่ยงร่วมกันทางด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม และเกิดผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ไม่ดีร่วมกัน
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม เป็นภาควิชาที่มีพันธกิจที่เน้นเรื่องการส่งเสริมและป้องกันโรค เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ จึงจัดโครงการ “ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคที่พบบ่อย” ขึ้น เพื่อให้ประชาชนหรือบุคลากรภายในคณะที่สนใจในเรื่องของความรู้เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน สามารถเข้าร่วมโครงการและนำความรู้ที่ได้ไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองต่อไปได้
วัตถุประสงค์
การจัดโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม
1. มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการมีภาวะสุขภาพที่ดี
2. มีทักษะและสามารถนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม เพื่อภาวะสุขภาวะที่ดี
เนื้อหาโดยสังเขป
เนื้อหากิจกรรมเน้นเรื่องการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องการดูแลสุขภาพ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งด้านการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม การทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาวะทั้งด้านสมอง จิตใจ อารมณ์ และสุขภาพกายโดยรวม เป็นกิจกรรมที่เน้นการทำ workshop เพื่อให้เห็นภาพและได้ลงมือปฏิบัติจริงเพื่อการเรียนรู้ที่ดีขึ้น