หลักการและเหตุผล       

                  โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญและเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของประเทศไทย ปัจจุบันการตายจากโรคหัวใจมีเพิ่มมากขึ้น บางรายเสียชีวิตเฉียบพลัน บางรายกลายเป็นโรคเรื้อรังและมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความมั่นคงในครอบครัวจากการรายงานขององค์การอนามัยโลก ภาระโรค NCDs พบว่าในปี พ.ศ.2553 การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุด คือ 15.62 ล้านคน รองลงมาคือ โรคมะเร็ง จำนวน 7.98 ล้านคน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จำนวน 2.9 ล้านคนและโรคเบาหวาน จำนวน 1.28 ล้านคน มีการประมาณการว่า การเสียชีวิตจากโรค NCDs จะเพิ่มขึ้นในทุกๆปี สำหรับประเทศไทย ปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมด 58,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน คิดเป็นอัตราตายของโรคหัวใจและหลอดเลือด เท่ากับ 90.34 ต่อแสนประชากร ผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด จำนวน 18,079 คน หรือ เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน คิดเป็นอัตราตายของโรคหัวใจขาดเลือด เท่ากับ 27.83 ต่อแสนประชากร(นิตยา พันธุเวทย์ และ หทัยชนก ไชยวรรณ, 2558)  ปัจจุบันมีวิวัฒนาการทั้งทางด้านการตรวจสืบค้นและการรักษาที่ดีขึ้นมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำและต่อเนื่อง รวมถึงการได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่บุคคลากรทางการแพทย์ควรมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีถึงเทคโนโลยีใหม่เพื่อนำไปประยุกต์สำหรับผู้ป่วยให้ได้ประโชน์สูงสุด (ธนัญญา บุณยศิรินันท์ และ รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์, 2556) การตรวจเอ็ม.อาร์.ไอ. หัวใจเริ่มตรวจเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อ 18 ปีก่อนและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆจากจำนวนผู้ป่วยประมาณ 300 รายต่อปี เพิ่มเป็นเกือบ 1800 รายต่อปีในปัจุบัน ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการให้ยากระตุ้นที่มีการส่งตรวจมากที่สุดในโรงพยาบาลศิริราช (ธนัญญา บุณยศิรินันท์ และ รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์, 2556) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ได้เริ่มให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ ซี. ที. สแกน ทำให้แพทย์สามารถเห็นภาพต่างๆภายในหัวใจได้ชัดเจนโดยการใช้รังสีเอ็กซ์ ซี ที สแกน เป็นเครื่องมือที่มีความไวและความจำเพาะสูงสามารถใช้ในการตรวจภาวะความผิดปกติของหัวใจได้หลากหลาย เช่น การตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ การตรวจหาหินปูนของหลอดเลือดหัวใจ การตรวจความผิดปกติของเส้นเลือดแดงใหญ่ รวมถึงใช้ติดตามผลการรักษาภายหลังการทำหัตถการหลอดเลือดหัวใจ อาทิเช่น หลังผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน เป็นต้น งานการพยาบาลระบบหัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การดูแลผู้ป่วยที่มารับการตรวจหัวใจด้วยวิธี Cardiac Imaging for nurses เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถบูรณการความรู้สู่การปฏิบัติ การดูแล การให้คำแนะนำและเตรียมผู้ป่วยรับการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์ของโครงการ

      เพื่อพัฒนาศักยภาพพยาบาลวิชาชีพ ให้มีสมรรถนะทางคลินิกในการดูแลผู้ป่วยที่มารับการตรวจหัวใจด้วยเอ็ม.อาร์.ไอ. และ ซี. ที. สแกน เพื่อการวินิจฉัยและติดตามผลการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน ตลอดจน ประสานความร่วมมือเบื้องต้นในทีมการดูแลได้

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ผู้เข้ารับการอบรม สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการเตรียมผู้ป่วย ให้คำแนะนำ และดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจและวินิจฉัยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย เอ็ม.อาร์.ไอ. และ ซี. ที. สแกน

2. ผู้เข้ารับการอบรม  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายวิชาชีพด้านการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ