หลักการและเหตุผล

                ภาวะสับสนเฉียบพลัน เป็นกลุ่มอาการทางจิตประสาทซึ่งปรากฏในลักษณะการเสื่อมลงของความตั้งใจและกระบวนการรู้คิดมักมีอาการเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันและมีลักษณะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงภายในหนึ่งช่วงวัน  อาการดังกล่าวเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยรุนแรงและรักษาตัวในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุที่มีภาวะสับสนเฉียบพลันในโรงพยาบาลมีอัตราการตายร้อยละ 22-76 ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจาก 5.7 เป็ น 9.1 วัน จำนวนผู้สูงอายุในการดูแลเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีภาวะสับสนเฉียบพลันต้องรักษาในระยะยาว จากข้อมูล พบว่าภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุ บางครั้งไม่ได้รับการวินิจฉัย การดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้อง การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าพยาบาลไม่สามารถวินิจฉัยภาวะสับสนเฉียบพลันได้ร้อยละ 75 เนื่องจากผู้สูงอายุ มีภาวะสมองเสื่อม และมีภาวะสับสนเฉียบพลันชนิดง่วงซึม จึงมีความยากในการวินิจฉัย และผู้สูงอายุได้รับการวินิจฉัยภาวะสับสนเฉียบพลันเพียงร้อยละ 2.9  หากเกิดภาวะซึมสับสนเฉียบพลันแล้ว ผลกระทบทั้งทางด้าน ร่างกาย จิตใจ และสังคม เนื่องจากเป็นภาระในการดูแลรักษา ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ  ยังส่ง ผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ป่วย เป้าหมายสำคัญในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะซึมสับสนเฉียบพลัน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี คือ การคัดกรองปัจจัยเสี่ยง การดักจับอาการ  การป้องกัน และรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะนอนในโรงพยาบาล  ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ และจิตสังคม ได้อย่างต่อเนื่อง  สามารถกลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงภาวะปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาระของครอบครัวและสังคม ทั้งด้านค่าใช้จ่ายและทรัพยากรอื่นๆในการดูแล ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการดูแลผู้ป่วยผู้สูงอายุเพื่อป้องกันภาวะสับสนเฉียบพลัน ซึ่งมีความเข้าใจในระบบบริการสุขภาพ สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งในระยะเฉียบพลัน ระยะวิกฤต ระยะฟื้นฟู และการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะสับสนเฉียบพลัน โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับไปใช้ชีวิตในครอบครัวได้อย่างเต็มศักยภาพ อย่างไรก็ตามมีการศึกษาเกี่ยวกับความรู้ทัศนคติและการปฏิบัติต่อภาวะสับสนเฉียบพลันของพยาบาลพบว่า ภาพรวมพยาบาลมีความรู้ระดับดี ความรู้และทัศนคติไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของพยาบาลในการดูแลภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัด ในผู้สูงอายุ แต่รายด้านพบว่าทัศนคติเชิงบวกและเชิงลบมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติของพยาบาล จากผลการวิจัยดังกล่าวสะท้อนว่า ควรส่งเสริมความรู้ ร่วมกับการเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกของพยาบาลต่อภาวะสับสนเฉียบพลัน  และยังมีการศึกษาพบว่าพยาบาลมีความรู้เกี่ยวกับภาวะสับสนเฉียบพลัน และความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวังภาวะสับสนเฉียบพลันอยู่ในระดับมาก ส่วนความรู้เกี่ยวกับการจัดการภาวะสับสนเฉียบพลันอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ความรู้ของพยาบาลมีความแตกต่างกันขึ้นกับประสบการณ์ การทำงานในหอผู้ป่วยวิกฤต โดยเฉพาะพยาบาลที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี จะมีความรู้ในระดับมาก ส่วนพยาบาลที่มีประสบการณ์น้อยกว่ามีความรู้น้อยกว่า จะเห็นได้ว่าความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุ เป็นสิ่งสำคัญในการจัดการภาวะสับสนเฉียบพลัน การพัฒนาพยาบาลให้มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและมีสมรรถนะเฉพาะเชิงวิชาชีพนั้น จำเป็นต้องได้รับการอบรมพยาบาลเฉพาะทางอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่พยาบาลจะสามารถดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสับสนเฉียบพลันได้นั้นต้องมีความรู้เป็นฐานพยาบาล ควรจัดการภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุนี้ อย่างไรก็ตามนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับโรงพยาบาลในการพัฒนาศักยภาพพยาบาลให้เป็นผู้มีความรู้ ทักษะในการประเมินอาการและอาการแสดง การวินิจฉัย และการจัดการภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพื่อมีความเข้าใจ คัดกรองผู้สูงอายุปลอดภัยจากภาวะสับสนเฉียบพลันได้ จึงจัดตั้งให้มีการอบรมบุคลากรที่ให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสับสนเฉียบพลันทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ NURSE CHAMPION เพื่อเสริมความเข็มแข็งและยั่งยืนในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยต่อไป

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อให้พยาบาลมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะซึมสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุมากขึ้น

2. เพื่อให้พยาบาลสามารถประเมินอาการ อาการแสดงและการจัดการภาวะซึมสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

3. เพื่อให้มีแบบแผนการดูแลผู้ป่วยเกิดภาวะซึมสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

 

1. สามารถนำความรู้และแนวทางไปปรับใช้ในการดูแลและการป้องกันภาวะซึมสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุได้จริง

2. สามารถจัดทำสื่อการสอน เพื่อเผยแพร่การป้องกันภาวะซึมสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

3. ผู้ป่วยผู้สูงอายุเกิดภาวะซึมสับสนเฉียบพลันจำนวนลดลง