การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคในปัจจุบัน นิยมใช้เครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว ผลการตรวจวิเคราะห์มีความถูกต้อง แม่นยำสูง และบุคลากรผู้ทำการตรวจวิเคราะห์ไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญ หรือ เทคนิคพิเศษมาก การใช้เครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติจึงมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติในปัจจุบันยังสามารถตรวจวิเคราะห์ได้หลายเทคนิคหรือหลายวิธีการตรวจวิเคราะห์ เช่น เทคนิคทางเคมีคลินิคธรรมดา เทคนิคการตรวจวัดสาร biomarker ต่างๆ ที่มีความไว (sensitivity) สูง อาทิ เทคนิค electrochemiluminescence หรือ enzyme luminescence ประกอบกับบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทางด้านการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการก็พยายามผลิตเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติพร้อมชุดน้ำยาที่ใช้กับเครื่องทำให้ผู้ตรวจวิเคราะห์มีความสะดวกสบายมากขี้น อย่างไรก็ตามยังมีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อีกมากที่ยังไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ด้วยเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ ยังคงต้องอาศัยผู้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการตรวจวิเคราะห์ เช่น เทคนิค electrophoresis, immunofluorescence, HPLC เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการตรวจเฉพาะด้าน เช่น การตรวจการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะและการปลูกถ่ายไขกระดูกที่เรียกว่า การตรวจ HLA typing และการเตรียมเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากแหล่งต่างๆ เพื่อการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ประเภทนี้เรียกได้ว่า special laboratory ซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลายและมีเพียงไม่กี่ห้องปฏิบัติการในประเทศที่สามารถทำการตรวจวิเคราะห์ได้ ส่วนใหญ่มักพบในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือมหาวิทยาลัยที่มีโรงเรียนแพทย์เป็นต้น

                 ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของ special laboratory เหล่านี้ จึงเห็นควรให้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ 5th Medical laboratory conference ในปี 2566 โดยเน้นและให้ความสำคัญกับการตรวจวิเคราะห์พิเศษ เพี่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ ในเทคนิค แนวคิดในการพัฒนาไปสู่งานตรวจวิเคราะห์ของแต่ละห้องปฏิบัติการของตนเองได้ และในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบ poster presentation เหมือนในทุกครั้งที่ผ่านมาอีกด้วย อย่างไรก็ตามในการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ก็ยังคงมีการสอดแทรกความรู้และเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ใหม่ๆ อยู่ด้วยเช่นกัน