หลักการและเหตุผล

         ผู้ที่ประสบกับภาวะวิกฤตฉุกเฉินทางสุขภาพต้องได้รับความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพและทันเวลาจึงจะมีโอกาสรอดชีวิตและเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด จึงจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีสมรรถนะสูงทั้งแพทย์และพยาบาลเป็นผู้ปฏิบัติการ การช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินของประเทศไทยที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดมีพยาบาลฉุกเฉินเป็นบุคลากรหลักในชุดปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นสูงในระยะก่อนถึงสถานพยาบาล (Pre-hospital phase) ในแผนกฉุกเฉิน (Emergency Department) และในการส่งต่อ (Referral) ไปยังหน่วยรักษาที่มีขีดความสามารถเหมาะสม ในระหว่างการปฏิบัติการฉุกเฉิน พยาบาลหัวหน้าชุดปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นสูงต้องแก้ไขภาวะคุกคามชีวิตฉุกเฉิน มีการปฏิบัติการเวชกรรมหลายประการ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า การให้ยาช่วยชีวิต เป็นต้น ซึ่งเป็นการช่วยชีวิตทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม สมรรถนะของพยาบาลจึงสำคัญยิ่งต่อผลลัพธ์ของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริรราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินขึ้น โดยใช้หลักสูตรกลางการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน ของสภาการพยาบาล ฉบับปรับปรุง 2563 เป็นมาตรฐานความรู้ในการจัดหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะพื้นฐานของพยาบาลซึ่งปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ ภายหลังจากผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนี้  พยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินสามารถพัฒนาความรู้และทักษะเฉพาะในเชิงลึกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ปฏิบัติการและภารกิจของหน่วยงาน เช่น เวชปฏิบัติในผู้ป่วยด้านโรคหัวใจ ผู้ป่วยเด็กและทารกแรกเกิด การจัดการระบบช่องทางด่วนการรักษา หรือ Fast-track สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องการการประกันเวลาในการรักษา การจัดการระบบการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของโครงการ

           หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินจัดทำขึ้นเพื่อเพิ่มพูนสมรรถนะของพยาบาลในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินทั้งในระยะก่อนถึงโรงพยาบาลในโรงพยาบาล และการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล โดยประยุกต์ใช้ความรู้ด้านนโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน สถานการณ์ปัญหาสุขภาพฉุกเฉิน รวมทั้งบทบาทพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน สามารถประเมินและจัดการทรัพยากรเพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทั้งในภาวะปกติและในภาวะภัยพิบัติ ใช้เครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ประยุกต์ใช้ข้อมูลในการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมทั้งสามารถประสานงานกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน

ผู้ผ่านการอบรมจะได้

-  ประกาศนียบัตรหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน

-  หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องสาขาการพยาบาลศาสตร์(CNEU) จำนวน 50 หน่วยคะแนน