หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลสถิติของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตรายใหม่อยู่ที่ประมาณ 16,000 - 20,000 คนต่อปี และพบว่ามีผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะที่ 4 และ 5 ราว 52,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการบำบัดทดแทนไตนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตและปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงกับคนปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการบำบัดทดแทนไตมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต ในปี พ.ศ. 2565 ระบบบริการสุขภาพมีนโยบายให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการบำบัดทดแทนไตได้ทุกรูปแบบ ผู้ป่วยสามารถเลือกรับการบำบัดทดแทนไตแบบใดก็ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยกลุ่มสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการเข้าถึงการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้โดยไม่ต้องผ่านนโยบาย PD first และผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องบางรายที่มีความจำเป็นสามารถเปลี่ยนวิธีการรักษามาฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง จำเป็นต้องมีสมรรถนะที่ครอบคลุมการชะลอความเสื่อมและการบำบัดทดแทนไต เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนพยาบาลที่ผ่านการอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนไตทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตทางช่อง แต่ยังไม่มีพยาบาลที่มีความรู้ความชำนาญที่ครอบคลุมทุกด้านทั้งผู้ป่วยในระยะก่อนการบำบัดทดแทนไตและระยะบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่ครอบคลุม สอดคล้องกับนโยบายของสภาการพยาบาลที่ต้องการพัฒนาพยาบาลผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่ครอบคลุมทุกสมรรถนะ จากเหตุผลดังกล่าว ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนไต (Program of Nursing Specialty in Renal Replacement Therapy Nurse Practitioner) ที่ครอบคลุมโรคไตเรื้อรังทุกระยะ เป็นที่แรกของประเทศไทย เพื่อพัฒนาพยาบาลวิชาชีพ ให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา รักษาคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ พัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคไตแบบองค์รวม ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ปลอดภัย มีคุณภาพ ได้ประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานและมีการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจนโยบายและระบบบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคไตเรื้อรังและการบำบัดทดแทนไต มีความรู้และทักษะในการประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูง การพยาบาลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะต่างๆ โดยเฉพาะโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต โดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องปลอดภัย บนพื้นฐานจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ และหลักฐานเชิงประจักษ์ สามารถประเมินปัญหา วางแผนป้องกัน และจัดการกับภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยง การใช้สารสนเทศทางสุขภาพเพื่อการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล และประสานงานกับทีมสุขภาพรวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ
1. ประกาศนียบัตรหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนไต
2. หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องสาขาการพยาบาลศาสตร์(CNEU) 50 หน่วยคะแนน
3. หนังสือรับรองเป็นผู้ผ่านหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นสูง (ACLS) จากศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการช่วยชีวิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล