หลักการและเหตุผล

        ในปัจจุบันถึงแม้จะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ทันสมัย สามารถค้นพบวิธีการรักษาที่หลากหลาย แต่ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลแล้วพบว่าความเจ็บป่วยที่เผชิญอยู่ไม่สามารถรักษา ให้หายขาดได้ เป็นโรคเรื้อรังที่มีความซับซ้อนของโรค และการรักษา และมีจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพของโรค จนเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตสังคมและจิตวิญญาณ รวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ และจริยธรรมทางการแพทย์ตลอดจนการสูญเสียของญาติต่อการจากไปของบุคคล อันเป็นที่รัก ผู้ป่วยและญาติควรได้รับการช่วยเหลือ ดูแลแบบประคับประคองอย่างองค์รวม(Holistic approach) และมีความต่อเนื่อง (Continuous caring) ตราบจนถึงวาระสุดท้ายของการมีชีวิตอยู่ การปรึกษา (counseling)  จัดว่าเป็นเครื่องมือทางการพยาบาลที่พยาบาลสามารถนำมาใช้เพื่อการสื่อสารและการบำบัดทางการพยาบาล (Nursing therapeutic)ในการดูแลผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง โดยมีเป้าหมายเพื่อการตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการอย่างเป็นองค์รวม เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยประเมินความต้องการทางจิตใจ ให้การดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้รับบริการทั้งที่เป็นผู้ป่วยและญาติ เพื่อป้องกันภาวะวิกฤตทางอารมณ์  บุคลากรพยาบาลเป็นผู้ให้การดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยและญาติมากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะในการให้การปรึกษา การประเมินความต้องการด้านจิตสังคม การช่วยเหลือเยียวยา ด้านจิตใจและจิตวิญญาณ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การบริการพยาบาล เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและครอบครัว พัฒนางานบริการผู้ป่วยระยะประคับประคองให้เป็นส่วนหนึ่งของงานประจำ ที่เสริมคุณค่าการทำงาน เสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพ สร้างเสริมองค์ความรู้และทักษะการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวให้ได้รับการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ตั้งแต่เริ่มเจ็บป่วยด้วยโรค ที่คุกคามต่อชีวิตจนถึงช่วงวาระสุดท้าย

วัตถุประสงค์ของโครงการ

พัฒนาบุคลากรพยาบาลให้มีความรู้ และทักษะการให้บริการปรึกษาเพื่อการเยียวยาผู้ป่วยและญาติ

ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ

1. ผู้เข้ารับการอบรมเห็นถึงความสำคัญและมีทัศนคติที่ดีต่อการให้การปรึกษาเพื่อการเยียวยา ผู้ป่วยและญาติ

2. ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการให้การปรึกษา  เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ 

3. เกิดพลังและความงอกงามในใจในการช่วยเหลือดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติ