หลักการและเหตุผล

ผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต เป็นผู้ที่เจ็บป่วยในภาวะฉุกเฉินมีปัญหาซับซ้อนและเสี่ยงต่อชีวิต  ต้องการการดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและช่วยเหลือ อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นและอาจมีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงในการดูแลทารกแรกเกิด ที่อยู่ในภาวะวิกฤต และมีการกระจายเทคโนโลยีเหล่านี้ไปยังส่วนภูมิภาคมากขึ้น แต่องค์ประกอบสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือพยาบาลซึ่งเป็นบุคลากรทีมสุขภาพ มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ในการดูแลผู้ป่วยทารกแรกเกิด สามารถประเมินภาวะสุขภาพของทารกแรกเกิดที่มีภาวะเสี่ยงและอยู่ในภาวะวิกฤต มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง การตัดสินในการส่งต่อทารก เพื่อการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที การพยาบาลเวชปฏิบัติวิกฤตทารกแรกเกิด เป็นสาขาการพยาบาล ที่ผู้ปฏิบัติงานต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางและมีประสบการณ์สูง จึงจำเป็นต้องพัฒนาพยาบาลวิชาชีพให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะและใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และในการให้การพยาบาลผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต ให้มีการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมโดยเน้นผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ทำงานแบบวิชาชีพและแบบสหสาขาวิชาชีพที่เป็นมาตรฐานสากล จากเหตุผลดังกล่าว  ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดการฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติวิกฤตทารกแรกเกิดให้กับพยาบาลวิชาชีพ เพื่อพัฒนาศักยภาพ ให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา ในการดูแลผู้ป่วยทารกแรกเกิดที่อยู่ในระยะวิกฤตแบบองค์รวม ส่งผลให้ผู้ป่วยทารกได้รับบริการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

วัตถุประสงค์ของโครงการ

        เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะในการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิดที่มีปัญหาซับซ้อน สามารถวิเคราะห์ปัญหาทางคลินิก  และความต้องการการดูแลรักษาพยาบาล สามารถเฝ้าระวัง ใช้อุปกรณ์พิเศษ และเทคโนโลยีขั้นสูง  สามารถใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และนวัตกรรมทางการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ

- ประกาศนียบัตรหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติวิกฤตทารกแรกเกิด

- หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องสาขาการพยาบาลศาสตร์ (CNEU) จำนวน 50 หน่วยคะแนน

- หนังสือรับรองเป็นผู้ผ่านหลักสูตรการช่วยชีวิตทารกแรกเกิดจากศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการช่วยชีวิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล