หลักการและเหตุผล
จากสถิติปี 2563 ของภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พบว่ามีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคทางหู คอ จมูก แบ่งเป็นผู้ป่วยนอกจำนวน 93,803 ราย และผู้ป่วยในจำนวน 2,518 ราย ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรคทางหู คอ จมูกทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิและเหนือตติยภูมิ การรักษาโรคทางหู คอ จมูกจะผสมผสานความร่วมมือของแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา รวมทั้งทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก แพทย์สาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง นักโภชนาการ พยาบาล ฯลฯ รวมทั้งการนำวิทยาการใหม่ๆ มาใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัยและเกิดประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล พยาบาลเป็นวิชาชีพหนึ่งในทีมดูแลรักษาผู้ป่วยและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้การรักษาสัมฤทธิ์ผล จึงต้องมีความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วย อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน รวมทั้งสามารถใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยในทุกขั้นตอนการรักษาและเกิดความประทับใจ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางการดูแลผู้ป่วยทางหู คอ จมูก จึงได้ร่วมกันจัดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นการพยาบาลผู้ป่วยหู คอ จมูก เพื่อเพิ่มพูนสมรรถนะของพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ก้าวทันต่อวิทยาการและเทคโนโลยีการรักษาแบบใหม่ ทั้งยังเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ของคณะแพทย์ฯ ในการเสริมสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโรคหู คอ จมูก ตั้งแต่ประเมินสภาพปัญหาผู้ป่วย วางแผนการพยาบาล ปฏิบัติการพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ ประเมินผลการพยาบาล วางแผนการจำหน่ายผู้ป่วยโรคหู คอ จมูก แต่ละรายได้อย่างครอบคลุมเหมาะสม
2. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้และทักษะ ในการประเมินภาวะวิกฤติฉุกเฉินทางหู คอ จมูก และให้การพยาบาลผู้ป่วยได้ถูกต้อง ปลอดภัย
3. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้และทักษะสามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคหู คอ จมูก ก่อน ขณะและหลังทำหัตถการ การใช้เครื่องมือ/การใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
4. สามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
5. เรียนรู้เทคโนโลยีและวิทยาการความก้าวหน้าในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งมีความตระหนักและรับผิดชอบ ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคหู คอจมูก ให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ
1. ผู้เข้ารับการอบรมสามารถปฏิบัติงานในด้านการดูแลผู้ป่วยโรค หู คอ จมูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ผู้เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายในวิชาชีพด้านการดูแลผู้ป่วยโรคหู คอ จมูก