หลักการและเหตุผล

          ภาวะวิกฤติทางจิตใจ เป็นภาวะเสียสมดุลทางอารมณ์และจิตใจเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์วิกฤติ แต่ไม่สามารถหาทางออก หรือใช้วิธีการจัดการปัญหาแบบเดิมๆ ทำให้ภาวะของจิตใจ อารมณ์มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นสุข สูญเสียสภาวะของความสมดุลของชีวิต มีความเครียด และความรู้สึกอารมณ์รุแรง  เช่น ความกลัว ความวิตกกังวลอย่างสูง ความโกรธ ความเศร้า อาจทำให้เกิดการตอบสนองอย่างรุนแรงในลักษณะการทำร้ายตนเองหรือ ทำร้ายผู้อื่น ผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้ามารับการรักษาพยาบาล  ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดคิด เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่นเผชิญกับความทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยทั้ง ด้านร่างกาย จิตสังคมและจิตวิญญาณ การรับรู้ข่าวร้าย พบว่าความเจ็บป่วยที่เผชิญอยู่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีความซับซ้อนของโรคและการรักษา รวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการสูญเสียต่างๆ ผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับการประเมินและให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรมที่รุนแรง เช่นทำร้ายตนเอง หรือผู้อื่น โดยเป้าหมายของการช่วยเหลือผู้ที่เผชิญภาวะวิกฤตทางอารมณ์ คือการสร้างสมดุลทางจิตใจ ช่วยให้บุคคลนั้นเข้าใจในภาวะวิกฤต ยอมรับความเป็นจริง สำรวจแนวทางการจัดการปัญหา ตลอดจนสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีสติรอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อทั้งตัวบุคคลและคนรอบข้าง งานการพยาบาลอายุรศาสตร์และจิตเวชศาสตร์ ร่วมกับฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช เห็นความสำคัญของปัญหาการช่วยเหลือภาวะวิกฤติทางจิตใจของผู้ป่วยเบื้องต้น และเห็นว่าพยาบาล เป็นบุคลากรด่านหน้าที่ให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในการประเมินคัดกรองความเสี่ยง การเฝ้าระวัง และให้การดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติ จึงได้จัดให้มีการอบรมการประเมินและการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติทางจิตใจเบื้องต้นขึ้น โดยมุ่งหวังว่า ผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้เพื่อนำไปดูแลผู้ป่วยให้ได้รับความปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

วัตถุประสงค์ของโครงการ

          พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ หลักการในการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติทางจิตใจ สามารถประเมินและให้การช่วยเหลือเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัวได้

ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ

1.  ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติทางจิตใจได้

2.  ผู้เข้ารับการอบรมสามารถใช้เครื่องมือในการประเมินคัดกรองผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติทางจิตใจได้