หลักการและเหตุผล
การเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง เป็นภาวะที่มีความรุนแรงซับซ้อนและคุกคามชีวิต วิธีการรักษามีความซับซ้อนและผสมผสานทั้งศัลยกรรม รังสีรักษา และการใช้ยา การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็ง เป็นวิธีการรักษาวิธีหนึ่งที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ความรู้ความเข้าใจในระดับยีนของการเกิดโรคมะเร็ง ทำให้มีการผลิตยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า ยาต้านฮอร์โมน และยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด ช่วยให้ผู้ป่วยหายหรือบรรเทาอาการจากโรคมะเร็งมากขึ้น อย่างไรก็ตามยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็ง เป็นกลุ่มยาที่มีความเสี่ยงสูง ความซับซ้อนของสูตรยาและวิธีการรักษาทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างได้รับยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็ง ต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงๆที่เป็นปัญหาเฉียบพลันและรุนแรง ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็ง เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัวทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม เศรฐกิจและคุณภาพชีวิต ดังนั้นการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็ง จึงต้องมีบุคลากร มีความรู้ ความชำนาญและทักษะเฉพาะในการดูแล จัดการกับปัญหาของผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงกำหนดให้มีการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น สาขาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด
วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจ สถานการณ์ปัญหาสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง ระบบบริการทรัพยากร ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล วิทยากรก้าวหน้าในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็ง หลักการบริหารยา มาตรฐานบุคลากร การจัดหน่วยงาน สิ่งแวดล้อมเพื่อการให้ยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็ง การจัดการอาการของโรค อาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็ง ฝึกทักษะการดูแลเฉพาะทางการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง การพิทักษ์สิทธิ์ กฏหมายและจริยธรรม
ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ
1. ประกอบวิชาชีพการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็งโดยใช้หลักจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ กฏหมายวิชาชีพและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
2. บูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาลศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและหลักฐานเชิงประจักษ์สู่การปฏิบัติพยาบาลผู้ป่วยโรคมะเร็งและครอบครัวที่ได้รับยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็ง
3. แสดงออกถึงคุณลักษณะเชิงวิชาชีพ มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีเจตคติที่ดีต่อการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็ง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชาชีพในสาขาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง
4. ประสานความร่วมมือกับทีมสหสาขาเพื่อจัดการและมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด/ยาต้านมะเร็ง
5. ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการรักษาพยาบาลและพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
6. สื่อสารเชิงวิชาชีพกับผู้ป่วยมะเร็ง ครอบครัวและทีมสหสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัว