หลักการและเหตุผล
ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร วีกิจ วีรานุวัตติ์ โรงพยาบาล ศิริราช เป็นศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร ด้วยการส่องกล้อง โดยอายุรแพทย์และศัลยแพทย์ที่ผ่านการอบรมและมีความชำนาญทางด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร (Combined Medical Surgical GI Endoscope) เป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจาก WGO (World Gastroenterology Organization) ให้เป็นสถาบันที่รับ การฝึกแพทย์นานาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำทางด้านวิชาการและทักษะ ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร GI Endoscopy เป็นหัตถการที่จำเป็นที่ช่วยในการวินิจฉัย(Diagnosis) และการรักษาโรค (Therapeutic) ระบบทางเดินอาหาร วิวัฒนาการทางด้านอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการตรวจรวมทั้งความรู้และทักษะของแพทย์ ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พยาบาลส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร จำเป็นต้องมีการพัฒนา ทั้งด้านวิชาการ ด้านการช่วยแพทย์ และการบำรุงรักษา เครื่องมือที่มีความซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีสูงและ มีราคาแพง ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยในระยะต่างๆ เช่น ระยะเตรียม ความพร้อมของร่างกายและจิตใจก่อนการตรวจ (Pre-procedure)ขณะตรวจ (Intra-procedure) และภายหลังการตรวจ (Post-procedure) เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมศึกษาดูงานสามารถนำความรู้ที่ได้รับ ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน และสามารถฝึกฝนเพิ่มเติมในระยะต่อมา ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร วีกิจ วีรานุวัตติ์ โรงพยาบาลศิริราช และงานการพยาบาลผ่าตัด ฝ่ายการพยาบาลฯ เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการศึกษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้านการพยาบาลผู้ป่วยส่องกล้องระบบทางเดินอาหารอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน เพื่อให้พยาบาลส่องกล้องระบบทางเดินอาหารที่ผ่านการอบรม สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรมนี้ไปพัฒนางานส่องกล้องระบบทางเดินอาหารให้เกิดประโยชน์แก่วงการพยาบาลต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. อธิบายมโนทัศน์การพยาบาลส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร หลักการบริหารจัดการในหน่วยส่องกล้องฯ และความรู้พื้นฐานในการพยาบาลผู้ป่วยส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
2. มีความรู้พื้นฐานทางกายวิภาคและสรีรวิทยา เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
3. มีความรู้ ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ได้ครอบคลุมทั้ง 3 ระยะ คือ ก่อนตรวจ ขณะตรวจ และหลังตรวจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ให้การดูแลผู้ป่วยส่องกล้องระบบทางเดินอาหารได้อย่างครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยใช้กระบวนการพยาบาลได้อย่างถูกต้อง
5. ประเมินและให้การพยาบาลผู้ป่วยส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ตามสภาพปัญหาได้อย่างเหมาะสม
6. มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเครื่องมือส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
7. มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือพิเศษที่ใช้ในการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
8. มีความรู้และทักษะในการเตรียมห้องตรวจ เครื่องมือ ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
9. มีความรู้และทักษะในการช่วยแพทย์ในการส่องตรวจระบบทางเดินอาหารได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และสามารถช่วยแพทย์ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ
10. ให้คำปรึกษาแนะนำผู้ป่วยส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร และญาติเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ได้อย่างเหมาะสม
11. มีความรู้และทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อันเกิดเนื่องจากความขัดข้องของเครื่องมือ อุปกรณ์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
12. มีความรู้และทักษะในการดูแลและบำรุงรักษาเครื่องมือส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ
1. ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมต้องมีระยะเวลาในการศึกษาอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อย่างละไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 90
2. ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมต้องได้คะแนนเฉลี่ย รวมทุกวิชา ร้อยละ 60