หลักการและเหตุผล

     ในปัจจุบันโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ และศูนย์บริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิขั้นสูง ทั้งโรงพยาบาลในภาครัฐและเอกชนมีการให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น เนื่องจากมีวิทยาการความก้าวหน้าในการวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างต่อเนื่อง หน่วยตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้บริการเฉพาะด้านการทำหัตถการตรวจวินิจฉัยและรักษาชนิดรุกราน (Invasive) แก่ผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารีย์ (Coronary Artery Disease, CAD) ที่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยการฉีดสีหลอดเลือดแดง โคโรนารีย์ (Coronary Angiography, CAG) และการรักษาโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารีย์ด้วยการถ่างขยายหลอดเลือดโดยใช้บอลลูนร่วมกับการสอดฝังขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือด (Percutaneous Transluminal Coronary Angioplasty, PTCA/Percutaneous Coronary Intervention, PCI) ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องดูแลใกล้ชิด และรวดเร็ว พร้อมให้บริการตลอดเวลาเพื่อแก้ไขภาวะวิกฤตหัวใจ พยาบาลหน่วยตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในทีมสุขภาพและต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการทำหัตถการ ต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญพิเศษทั้งด้านความรู้และการปฏิบัติงาน ภายใต้การทำงานเป็นทีมในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยขอบเขตการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพหน่วยตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดนั้นครอบคลุมทั้งระยะก่อนทำหัตถการ ขณะทำหัตถการและหลังทำหัตถการ หรือตั้งแต่แรกรับผู้ป่วยจนถึงส่งต่อผู้ป่วยไปยังหอผู้ป่วย ซึ่งทุกระยะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ ดังนั้น พยาบาลวิชาชีพหน่วยตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดจึงจำเป็นต้องได้รับการเตรียมศักยภาพให้พร้อม สอดคล้องและตอบสนองความต้องการตามความคาดหวังของผู้รับบริการงานการพยาบาลระบบหัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช เห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางคลินิก ของพยาบาล ให้มีความรู้และเชี่ยวชาญในการพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการพยาบาลเฉพาะทางหน่วยตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด ตอบสนองความต้องการตามความคาดหวังของผู้รับบริการ เกิดผลลัพธ์ทางการพยาบาลที่ดี  ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการ

วัตถุประสงค์ของโครงการ

พัฒนาศักยภาพพยาบาลวิชาชีพให้มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในการช่วยแพทย์ตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด สามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยแบบองค์รวมสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เฉพาะและซับซ้อน เกิดผลลัพธ์ทางการพยาบาลที่ดี  คือผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. 1. ผู้เข้ารับการอบรมได้พัฒนาตนเองด้านความรู้ ทักษะ และเทคนิค ในการพยาบาลและการช่วยแพทย์ตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารีย์ (Coronary Artery Disease, CAD) ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
  2. 2. ผู้เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายในวิชาชีพด้านการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารีย์ (Coronary Artery Disease, CAD) ที่เข้ารับการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด