หลักการและเหตุผล
การพัฒนาระบบการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะโรค ดำเนินงานผ่านคณะกรรมการพัฒนาระบบการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะโรคและคณะทำงานการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะโรคของงานการพยาบาลต่างๆ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556 ปัจจุบันมีการดำเนินการทั้งหมด 5 กลุ่ม รวม 28 โรค การดำเนินการพัฒนาเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ในการสืบค้นข้อมูลทางการพยาบาล การจัดทำ flow / Care process ที่ครอบคลุมตั้งแต่แรกรับจนถึงจำหน่ายและติดตามดูแลต่อเนื่อง การกำหนด KPI และการจัดทำ KPI dictionary การหาคู่เทียบเคียง และการวิเคราะห์ผลลัพธ์การดูแล โดยทีม APN จากหน่วยความเป็นเลิศทางการพยาบาล เป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ โดยในกลุ่ม 1-4 ได้ดำเนินการพัฒนาจนมีผลลัพธ์ในการดำเนินการ จำนวน 25 โรค ซึ่งแต่ละกลุ่มโรคจะมีบทเรียนความสำเร็จ ปัญหา อุปสรรคและแนวทางการพัฒนา ส่งผลให้เกิดการทำงานเป็นทีมที่มีการพัฒนาการดูแลอย่างต่อเนื่อง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มคณะทำงานฯ แต่ละโรค แต่ละกลุ่มและระหว่างกลุ่ม ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และบทบาทพยาบาลในทีมดูแลสุขภาพ เพื่อผลลัพธ์ที่มุ่งหวังให้ผู้ป่วยปลอดภัยและพึงพอใจจากบริการพยาบาลที่มีคุณภาพในระดับสากล นอกจากนี้ประมาณ 1 ใน 3 ของกลุ่มโรคทั้งหมด ได้ผ่านการประเมินรับรองระบบการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค (Disease Specific Certification: DSC) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) หน่วยความเป็นเลิศทางการพยาบาล งานพัฒนาคุณภาพการพยาบาล ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช เห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่องและมุ่งหวังให้ระบบบริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลขยายต่อหรือส่งผ่านหมุนเวียนไป เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งกับพยาบาลที่ให้บริการและผู้ป่วย/ญาติที่มารับบริการ จึงจัดโครงการบริการวิชาการ เรื่อง “Knowledge spiral in Specific Disease” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ในการพัฒนาระบบการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะโรคอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องในบริบทของหน่วยงานต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาระบบการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะโรค
2. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์การพัฒนาระบบการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะโรค
ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ
1. ผู้เข้ารับการอบรมได้รับทราบแนวทาง/วิธีปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะโรคทั้งในด้านการบริหารจัดการเชิงระบบและการปฏิบัติการพยาบาล
2. ผู้เข้ารับการอบรมได้รับทราบ/แลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำลงสู่การปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะโรคที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มโรค
3. ผู้เข้าอบรมสร้างเครือข่ายในวิชาชีพ ด้านการพัฒนาระบบการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะโรค ทั่วประเทศ