หลักการและเหตุผล

        รังสีร่วมรักษามีบทบาทในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค ระบบประสาทและไขสันหลัง โรคระบบลำตัวและรยางค์ รักษาโรคหลอดเลือดสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคหลอดเลือดแดงและดำในสมองเชื่อมต่อผิดปกติ และโรคมะเร็ง ร่วมกับการใช้อุปกรณ์สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาหลอดเลือดด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในการนำทางร่วมกับอุปกรณ์พิเศษ เช่น สายสวนหลอดเลือด ขดลวดนำทาง ขดลวดหลอดเลือด ขดลวดตาข่ายหรือบอลลูนถ่างขยาย ฯลฯ เข้าไป ในร่างกาย ผลการรักษาเทียบเท่ากับการผ่าตัดภาวะแทรกซ้อนเกิดน้อยและผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ด้วยประสิทธิผลที่ดีของการรักษาด้วยรังสีร่วมรักษาและนโยบายระบบบริการสุขภาพของประเทศ ทำให้มีการผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขารังสีร่วมรักษาไปในภูมิภาคต่างๆ  ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น พยาบาลมีบทบาทสำคัญในงานรังสีร่วมรักษา ในด้านการเตรียม ติดตามอาการระหว่างและหลังทำหัตถการในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มวิกฤตหรือฉุกเฉินและกลุ่มผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน การเตรียมอุปกรณ์และวัสดุพิเศษสำหรับทำหัตถการ ช่วยแพทย์ในห้องหัตถการ ดูแลด้านความปลอดภัยทางรังสีทั้งต่อผู้ป่วยและต่อบุคลากร พยาบาลรังสีร่วมรักษาจึงควรได้รับการเพิ่มสมรรถนะให้มีความรู้-ความสามารถและมีทักษะในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชจึงจัดหลักสูตรต้นแบบการฝึกอบรมระยะสั้น  สาขาการพยาบาลรังสีร่วมรักษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของพยาบาลรังสีร่วมรักษา ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ ให้เกิดความชำนาญเฉพาะสาขา

วัตถุประสงค์ของโครงการ

          เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค บริบทของ  การให้บริการทางรังสีร่วมรักษาและ วิธีการรักษาด้วยวิธีทางรังสี ร่วมรักษา การจัดระบบบริการการบริหารทรัพยากรภายในหน่วยงาน และมีความรู้ทางด้านความปลอดภัยทางรังสี ฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วยที่มารับบริการทางรังสีร่วมรักษาทั้งขณะ ระหว่างและหลังทำหัตถการตามมาตรฐาน สามารถเตรียมอุปกรณ์ ช่วยรังสีแพทย์ขณะทำหัตถการได้ถูกต้อง การพิทักษ์สิทธิ์ กฏหมายและจริยธรรม

ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ

1. ประกาศนียบัตรการพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจรักษาทางรังสีร่วมรักษา

2. หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่อง(CNEU) จากสภาการพยาบาลจำนวน 50 หน่วยคะแนน