หลักการและเหตุผล

             โรคระบบประสาท สมอง และ ไขสันหลัง เป็นปัญหาที่สำคัญระดับประเทศ ที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนมากใช้ระยะเวลานานในการรักษาและฟื้นฟู  ผู้ป่วยและครอบครัวต้องเผชิญกับความสูญเสีย เจ็บปวดทุกข์ทรมาน สภาวะของโรค อาจทำให้ผู้ป่วยการเกิดภาวะทุพลภาพ การดูแลสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัว ต้องครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ จึงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย การผ่าตัดทางระบบประสาท มีความจำเพาะ มีความหลากหลายและซับซ้อน ผู้ป่วยโรคระบบประสาทสมองและไขสันหลังที่ได้รับการผ่าตัด มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถ รอดชีวิต  ลดภาวะแทรกซ้อน สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพ ลดความพิการ ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัด ต้องอาศัยบุคลากรแพทย์ พยาบาลที่มีความรู้ ความชำนาญ รวมถึงการมีทักษะเฉพาะทางที่ใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ในปัจจุบัน ภาวะโรคของผู้ป่วย มีความรุนแรงซับซ้อนมากขึ้น รวมถึง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์  พยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท สมอง และ ไขสันหลัง จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มพูน องค์ความรู้เฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วย    ความสามารถและทักษะการปฏิบัติการพยาบาล เพื่อช่วยให้การพยาบาลมีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพิ่มคุณภาพการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานการพยาบาลศัลยศาสตร์และศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ เล็งเห็นความสำคัญ ในการพัฒนาบุคลากรที่มีบทบาทดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ให้มีความรู้และทักษะความสามารถในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง และทันสมัยต่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ นับเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่เพิ่มโอกาสรอดชีวิตและคืนสุขภาวะที่ดีแก่ผู้ป่วย  จึงจัด “โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโรคระบบประสาท สมอง และ ไขสันหลัง” เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการพยาบาลผู้ป่วย โรคระบบประสาท สมอง และ ไขสันหลัง

วัตถุประสงค์ของโครงการ

             เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความสามารถและทักษะในการดูแลผู้ป่วยโรคระบบประสาท สมอง และ ไขสันหลัง สามารถวิเคราะห์ปัญหาสถานการณ์ทางคลินิกและความต้องการดูแลรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคระบบประสาท สมอง และ ไขสันหลัง ได้ตั้งแต่แรกรับจนกระทั่งจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลตลอดจนถึงกระบวนการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถนำส่งผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ

1. มีความรู้พื้นฐานทางกายวิภาคและสรีวิทยาเกี่ยวกับระบบประสาท สมอง และ ไขสันหลัง

2.  มีความรู้และทักษะการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดระบบประสาท สมอง และ ไขสันหลัง ระยะฉุกเฉิน ระยะวิกฤต และระยะฟื้นฟู

3.  มีความรู้และความสามารถจัดการภาวะแทรกซ้อนที่เกิดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดระบบประสาท สมอง และ ไขสันหลัง