หลักการและเหตุผล

               ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) เป็นภาวะที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย คาดว่ามีผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวประมาณร้อยละ 1.3-5 ของจำนวนประชากรทั่วไป และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งพบว่าภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าในการรักษาภาวะหัวใจมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่กลับพบว่าภาวะหัวใจล้มเหลวยังมีอัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูง โดยพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 20 ที่ 1 ปี และร้อยละ 50 ที่ 5 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลและการเข้านอนซ้ำในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันยังสูงมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังได้รับการรักษาที่ต่ำกว่ามาตราฐานที่ควรจะเป็น โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความซับซ้อนของการรักษาที่มีการใช้ยาหลายชนิด รวมถึงการขาดความรู้ความชำนาญของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการดูแลผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวแบบสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วยอายุรแพทย์โรคหัวใจ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ และเภสัชกร และร่วมทำงานกับนักกำหนดอาหาร (dietician) กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ (cardiac rehabilitation) และกลุ่มงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษา (patient-centered multidisciplinary care) โดยมุ่งหวังเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำและการเสียชีวิตลง โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้น และส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลดลงตามมาเพื่อส่งเสริมการดูแลรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  งานการพยาบาลอายุรศาสตร์และจิตเวชศาสตร์ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช  จึงจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการพยาบาลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว โดยมีจุดประสงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่พยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วัตถุประสงค์ของโครงการ

          พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ หลักการในการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว  สามารถให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมให้สอดคล้องกับวิธีการรักษาด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัวได้

ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ

1. ผู้เข้าอบรมนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพยาบาลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

2. ผู้เข้าอบรมนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ร่วมงาน  และให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติ

3. เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้ารับการอบรมในการดูแลผู้ป่วย