หลักการและเหตุผล
โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2564 องค์การอนามัยโลกพบผู้เสียชีวิตจาก โรคหลอดเลือดสมองทั่วโลกถึง 6.2 ล้านคน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในประชากรโลกเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจขาดเลือด โดยมากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาและผู้ป่วยที่รอดชีวิตส่วนหนึ่งมักมีความพิการหลงเหลืออยู่เป็นภาระการดูแลของครอบครัว ส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวจึงร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับพยาบาลในการจัดการการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. วิเคราะห์นโยบายสุขภาพ สภาวการณ์ และระบบบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
2. ออกแบบระบบบริการสุขภาพและการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
3. ประเมินภาวะสุขภาพที่ซับซ้อนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
4. วิเคราะห์และตัดสินปัญหาทางคลินิก รวมทั้งความต้องการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและครอบครัว
5. วางแผนการพยาบาลและแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปจนถึงผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน ระยะวิกฤต และระยะฟื้นฟู
6. ปฏิบัติการพยาบาลด้านการดูแลผู้ป่วยทุกระยะ โดยใช้ความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็นปัจจุบันและ/หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย
7. ประสานกับทีมสหสาขาวิชาชีพและผู้เกี่ยวข้องทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน
8. ระบุผลลัพธ์ทางการพยาบาลด้านการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อภาวะสุขภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและครอบครัว
ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ
1. ประกาศนียบัตรหลักสูตรฝึกอบรม
- การพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
- การช่วยชีวิตขั้นสูง(ACLS) จากศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการช่วยชีวิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
2. CNEU 50 หน่วยคะแนน
3. การฝึกบริหารจัดการ และการดูแลผู้ป่วย
- รับการรักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือด (rtPA)
- Mechanical Thrombectomy
- Mobile Stroke Unit ร่วมกับทีมสุขภาพ
4. การฝึกนำผลการวิจัย /การใช้EBPในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
5. การร่วมดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(นิทรรศการ World Stroke Day สำหรับประชาชนทั่วไป/อื่นๆ)