ศูนย์บูรณาการกระดูกสะโพกหักศิริราช
(Siriraj Hip Fracture Professional: Si-HIP)

ในปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้มีประชากรผู้สูงวัยมากขึ้น และ ความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วที่ลดลงจากเดิม การทรงตัวที่ไม่ดี และโรคประจำตัวต่างๆ ความเสื่อมของร่างกายในส่วนต่างๆที่เพิ่มขึ้นตามวัย ส่งผลทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดการล้มได้ง่ายขึ้น ประกอบกับภาวะกระดูกพรุนที่พบได้มากโดยเฉพาะในเพศหญิง ทำให้การล้มแม้จะดูเหมือนอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็อาจจะส่งผลให้เกิดกระดูกหักได้ไม่ว่าจะเป็นที่ตำแหน่ง กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ กระดูกหัวไหล่ และที่สำคัญคือทีตำแหน่ง กระดูกสะโพก หรือกระดูกต้นขา

หลังจากผู้สูงอายุกระดูกสะโพกหักมักส่งผลให้มีความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ไม่สามารถลงน้ำหนัก ยืน เดินหรือขยับขาข้างนั้นได้ ความเจ็บปวดที่รุนแรงและการไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ มักจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา เช่น แผลกดทับ ภาวะปอดแฟบ การติดเชื้อในปอด ปัสสาวะคั่งค้าง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาการเพ้อสับสนเฉียบพลัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถกลับไปช่วยเหลือตัวเองได้ดังเดิม จนกระทั่งอาจจะเป็นผู้ป่วยติดเตียง เกิดภาวะพึ่งพิง เป็นภาระของญาติและครอบครัวในการดูแลในระยะยาว

ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ ตั้งแต่ในสมัย ศ.คลินิก.นายแพทย์ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา จึงได้ริเริ่มให้มีการพัฒนาแนวทางการให้บริการ โดยการสร้าง แนวทางปฏิบัติเพื่อการดูแลรักษา(Clinical practice guideline) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และมีการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังการรักษาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยอนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิคส์ ร่วมกับงานพัฒนาคุณภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในปี 2561 เริ่มต้นการจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยตามรอยของกระบวนการดูแลรักษา (Clinical tracer) และได้มีการพัฒนาต่อเนื่องจนได้รับการรับรอง Program Disease  Specific Certification  จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ในปีพ.ศ. 2566 และได้ก้าวเข้าสู่การเป็น ศูนย์บูรณาการกระดูกสะโพกหักศิริราช (Siriraj Hip Fracture Professional: Si-HIP) ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศของโรงพยาบาลศิริราชในปีนี้ ความสำเร็จดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภายใน และภายนอกภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ฯ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ได้รับอุบัติเหตุจนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตลอดจนให้การดูแลรักษาต่อเนื่องที่บ้านภายหลังออกจากโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิม มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ มีบทบาทสำคัญในการให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและวางแผนการรักษา เลือกใช้วิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม ร่วมกับเทคนิควิธีการผ่าตัดที่ลดการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้โดยเร็ว และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิม อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุบางรายอาจจะมีโรคร่วม และบางครั้งอาจจะเป็นสาเหตุของการล้ม ด้วยเหตุนี้เอง อายุรแพทย์ปัจฉิมวัย และวิสัญญีแพทย์จึงมีบทบาทสำคัญในการที่จะร่วมดูแลผู้ป่วย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัดให้ได้โดยเร็ว ซึ่งในปัจจุบันผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราชมากกว่าร้อยละ 80 ได้รับการผ่าตัดภายใน 48 ชั่วโมง ทั้งนี้เนื่องมาจากความร่วมมืออย่างดีจากทีมสหสาขา และการบริหารจัดการห้องผ่าตัดของภาควิชาฯอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ช่วงระยะเวลาที่รอผ่าตัดผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บปวดแม้จะมีการเคลื่อนไหวอยู่บนเตียงก็ตาม ดังนั้นหน่วยระงับปวด ภาควิชาวิสัญญีวิทยา ได้มีบทบาทสำคัญในการให้การรักษาเพื่อระงับอาการปวดทั้งก่อนและหลังผ่าตัดใน 48 ชั่วโมงแรก โดยการฉีดยาระงับปวดที่เส้นประสาท การปรับใช้ standing order เพื่อระงับปวดระหว่างก่อนและหลังผ่าตัดแบบ Multimodal anesthesia ทำให้มีความสุขสบายมากขึ้น นอกจากนี้การนำการแนวทางการดูแลผู้ป่วยเพื่อให้ฟื้นตัวเร็วหลังผ่าตัด (Enhanced recovery after surgery ) เข้ามาปรับใช้เพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแม้จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยเร่งด่วนในการรักษาและมีระยะเวลาในการเตรียมก่อนผ่าตัดน้อยก็ตาม   วิธีการผ่าตัดที่บาดเจ็บน้อยแผลเล็กและ ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดลดลงก็ส่งผลให้ฟื้นตัวได้รวดเร็วสามารถจะกลับมายืนเดินได้อีกครั้ง นักกายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญ ทั้งในช่วงก่อนและหลังผ่าตัด ในการช่วยฝึกการบริหารปอดและการช่วยเหลือผู้ป่วยในการฝึกเดิน การใช้เครื่องพยุงเพื่อการเคลื่อนไหว ให้กลับมายืนและเดินให้ได้อีกครั้ง ทีมนักกิจกรรมบำบัดที่เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องการเตรียมกิจวัตรประจำวัน และจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมในบ้านให้มีความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยและญาติแต่ละราย ช่วยลดการหกล้มซ้ำจากอุบัติเหตุในบ้าน ฝ่ายเภสัชกรรมช่วยดูแลในการจัดเตรียมยาที่มีความเหมาะสมในการรักษา ได้รับยาที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องกลับบ้าน ทีมหน่วยการพยาบาลต่อเนื่องช่วยในการประสานงานส่งต่อให้กับศูนย์บริการทางสาธารณสุขปลายทางได้เข้ามาเยี่ยมบ้านและให้การดูแลในระยะ Intermediated care ตามความต้องการของผู้ป่วยและญาติ

การดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุในช่วงระยะหลังการผ่าตัด มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่ละรายได้รับการวิเคราะห์ถึงปัญหาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และครอบครัวเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ป่วยให้สามารถจะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้หลังออกจากโรงพยาบาล การป้องกันการล้มและเกิดกระดูกหักซ้ำ การรักษาโรคกระดูกพรุน โดย Siriraj Fracture Liaison Service เป็นทีมสหสาขาที่ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ สาขาโรคเมตะบอลิกทางกระดูก อายุรแพทย์สาขาปัจฉิมวัย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักอาชีวบำบัด นักกายภาพบำบัด พยาบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วยและครอบครัว ให้สามารถที่จะกลับไปฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจหลังออกจากโรงพยาบาล และนอกจากนี้ยังเตรียมการส่งผ่านข้อมูล เพื่อให้เกิดการดูแลต่อเนื่องไปยังเครือข่ายการดูแลต่อเนื่องภายนอกโรงพยาบาล พร้อมทั้งมีช่องทางในการประสานงานส่งข้อมูลย้อนกลับมายังทีมผู้รักษา และนำมาเชื่อมต่อกับระบบการจัดเก็บข้อมูลของโรงพยาบาล เพื่อฐานข้อมูลสำคัญในอนาคตที่จะใช้ในการพัฒนาสู่การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่าต่อไป

มากกว่าการดูแลผู้ป่วยแต่ละรายให้ปลอดภัย ฟื้นตัวเร็ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ศูนย์บูรณาการกระดูกสะโพกหักศิริราชมุ่งหวังที่จะสร้างสรรค์องค์ความรู้ นวัตกรรมเกี่ยวกับการรักษาและการบริการ นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านสุขภาพ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในระดับสากลต่อไป