วันที่ 24 มิถุนายน 2564 เวลา 11.00 น. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด และบริษัท เมติคูลี่ จำกัด ได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือด้านการวิจัย (MOU) โครงการต่อยอดการแพทย์ครบวงจรที่จุดการรักษา (Point of Care) ด้วยกระบวนการออกแบบการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิตอลและการผลิตเครื่องมือแพทย์เฉพาะบุคคลด้วยโลหะไทเทเนียมจากการพิมพ์สามมิติ ณ ห้องประชุมคณะ ฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 3 โรงพยาบาลศิริราช

ในพิธีนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ศาสตราจารย์ นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นายธีร์ ธีระโกเมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รองศาสตราจารย์ ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมติคูลี่ จำกัด นายสุเมธ ไชยสูรยกานต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร หัวหน้าโครงการวิจัย มาร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือในครั้งนี้

ระบบการแพทย์ครบวงจรที่จุดการรักษาด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติจากโลหะไทเทเนียมแห่งแรกของโลก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกับบริษัท ออส ทรีโอ จำกัด (OSS3O) และบริษัท เมติคูลี่ จำกัด ในการเปิดตัวโครงการระบบการแพทย์ครบวงจรที่จุดการรักษาด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (Point-of-Care 3D printing) จากโลหะไทเทเนียมเป็นแห่งแรกของโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่ได้รวมเอากระบวนการออกแบบการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิตอล และการผลิตเครื่องมือแพทย์เฉพาะบุคคล จากการพิมพ์สามมิติด้วยโลหะไทเทเนียม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความแม่นยำสูงสุด

เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้น จะทำให้เกิดศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์เฉพาะบุคคล ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ จากโลหะไทเทเนียม ขึ้นภายในโรงพยาบาลศิริราช และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สามารถช่วยผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาด้วยกระดูกทดแทน ได้เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น กระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคล แผ่นไทเทเนียมเสริมเบ้าตาเฉพาะบุคคล โลหะไทเทเนียม ดามกระดูกขากรรไกรเฉพาะบุคคลและอุปกรณ์ช่วยผ่าตัด กระดูกเทียมไทเทเนียมเฉพาะบุคคลส่วนข้อมือและข้อศอก และการรักษาภาวะมะเร็งกระดูกที่ต้องการกระดูกทดแทน โดยตั้งเป้าหมายว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยผู้ป่วยให้ได้รับการรักษามากกว่า 1,000 รายต่อปี การพัฒนานี้จะไม่เพียงแต่ยกระดับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย แต่ยังสร้างมาตรฐานใหม่ในวงการแพทย์ทั่วโลก