การศึกษา

หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน

หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน

เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

สาขาตจวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ฉบับปรับปรุง พ.ศ 2562

 

1. ชื่อหลักสูตร

(ภาษาไทย) หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาตจวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

(ภาษาอังกฤษ) Residency TraininginDermatology, Department of Dermatology, Faculty of Medicine Siriraj  Hospital 

 

2. ชื่อวุฒิบัตร

ชื่อเต็ม

(ภาษาไทย) วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาตจวิทยา

(ภาษาอังกฤษ) Diploma of the Thai Board of Dermatology   

ชื่อย่อ

(ภาษาไทย) ว.ว.สาขาตจวิทยา

(ภาษาอังกฤษ) Diploma, Thai Board of Dermatology

คำแสดงชื่อวุฒิการฝึกอบรมท้ายชื่อ

(ภาษาไทย) ว.ว.สาขาตจวิทยา

(ภาษาอังกฤษ) Diploma, Thai Board of Dermatology  หรือ Dip., Thai Board of Dermatology

 

3. หน่วยงานที่รับผิดชอบ 

ภาควิชาตจวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

4. พันธกิจของการฝึกอบรม/หลักสูตร

ภาควิชาตจวิทยาได้กำหนดพันธกิจด้านการศึกษาของหลักสูตรคือ

“เพื่อสร้างตจแพทย์ที่มีคุณภาพและจริยธรรมในระดับสากล”

             โรคผิวหนังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไป และมีความเกี่ยวเนื่องกับโรคตามระบบทางอายุรศาสตร์       ตจแพทย์จึงต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถครอบคลุมการวินิจฉัย ให้การดูแลรักษารวมถึงการส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยผิวหนังได้อย่างถูกต้องครบถ้วนคำนึงถึงความต้องการด้านสุขภาพของชุมชน สังคม ระบบบริการสุขภาพ และมีมุมมองอื่นๆด้านความรับผิดชอบทางสังคมตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม จากกระแสความนิยมของสังคมปัจจุบันที่มีต่อการทำศัลยกรรมความงามรวมถึงหัตถการเสริมความงามชะลอวัยทางผิวหนังต่างๆ ภาควิชาฯจึงเล็งเห็นความสำคัญว่า นอกจากความรู้ความชำนาญในเวชปฏิบัติข้างต้น ตจแพทย์จำเป็นจะต้องเป็นผู้มีเจตคติ  คุณธรรมจริยธรรมที่ดี  และมีความเอื้ออาทรใส่ใจในความปลอดภัยในการดูแลรักษารวมถึงส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วย โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวมด้วย

            สาขาตจวิทยา  เป็นสาขาวิชาที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างรวดเร็ว  มีงานวิจัยใหม่ๆออกมาอย่างสม่ำเสมอ ตจแพทย์จึงต้องมีเจตนารมย์ในการติดตามความรู้และวิทยาการให้ทันสมัย สามารถวิเคราะห์ข้อมูลนำมาปรับใช้กับบริบทของตนได้ มีความสามารถในด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆด้วยตัวเอง มีเจตนารมณ์และเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ที่มีทักษะด้านการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ สามารถทำงานเป็นทีม/สหวิชาชีพ มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในวชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่นๆรวมทั้งผู้ป่วยและญาติ  มีความเป็นมืออาชีพและมีความสามารถในการบริหารจัดการบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพด้วย

              จะเห็นได้ว่า การเรียนในภาคทฤษฎีอย่างเดียวไม่สามารถทำให้บรรลุพันธกิจได้ แพทย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องนำความรู้ ทักษะต่างๆ มาบูรณาการกับการฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยจนชำนาญ โดยภาควิชาฯใช้หลักการให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นศูนย์กลาง  เพื่อกระตุ้นเตรียมความพร้อมและสนับสนุนให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้แสดงความรับผิดชอบต่อกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง  ภายใต้การกำกับดูแล การประเมิน และการให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างเป็นระบบ  หลักสูตรฉบับนี้จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อให้การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านตจวิทยาบรรลุวัตถุประสงค์ดังที่วางไว้

 

5. ผลลัพธ์ของการฝึกอบรม/หลักสูตร

แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นตจแพทย์ต้องมีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามที่ภาควิชาฯ ได้กำหนด ผลลัพธ์การฝึกอบรมที่พึงประสงค์ (intended learning outcomes) ซึ่งครอบคลุมสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้าน      อิงตามเกณฑ์สากลของ Accreditation Council for Graduate Medical Education (ACGME) และเกณฑ์หลักสูตรกลางสาขาตจวิทยา ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยดังต่อไปนี้

5.1 การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient Care)

5.1.1 สามารถซักประวัติ ตรวจร่างกาย ได้ครบถ้วนและถูกต้อง

5.1.2 มีทักษะในการแปลผลทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับทางผิวหนัง 

5.1.3 สามารถให้การวินิจฉัย การวางแผนการรักษาโดยใช้ยา (medical) หรือหัตถการ (procedures) และ      ให้ความรู้แก่ผู้มีปัญหาผิวหนัง

5.1.4 สามารถให้ความรู้เพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพทางผิวหนัง 

5.1.5 สามารถบันทึกเวชระเบียนได้อย่างสมบูรณ์และสม่ำเสมอ

5.2 ความรู้ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วย (Medical knowledge and   Skills)

5.2.1 มีความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ (basic sciences) ทางผิวหนัง

5.2.2 มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ และเชี่ยวชาญในสาขาตจวิทยา

5.2.3 สามารถวิพากษ์บทความและงานวิจัยทางการแพทย์

5.3 การเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการพัฒนาตนเอง (Practice-based Learning)

5.3.1 มีงานวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข

5.3.2 สามารถเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ

5.3.3 สามารถใช้ยาและทรัพยากรอย่างสมเหตุผล

5.3.4 มีความสามารถทางทักษะด้านอื่นๆเช่น ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ ใช้โปรแกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย(software literacy)

 

5.4 ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)

5.4.1 มีทักษะการนำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

5.4.2 สามารถถ่ายทอดความรู้ และทักษะให้บุคลากรทางการแพทย์

5.4.3 มีทักษะการสื่อสารให้ข้อมูลแก่ญาติและผู้ป่วย ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพโดยมีเมตตา เคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

5.4.4 มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับเพื่อนร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ

5.4.5 มีทักษะการเป็นที่ปรึกษา และให้คำแนะนำแก่แพทย์ต่างแผนก และบุคลากรอื่น

5.5 ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)

5.5.1 มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติอันดีต่อผู้ป่วย ญาติ ผู้ร่วมงานเพื่อนร่วมวิชาชีพและชุมชน

5.5.2 มีความสนใจใฝ่รู้และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต 

          (Continuous Professional Development)

5.5.3 มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย และคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

5.6 การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based Practice)

5.6.1 มีความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพ และระบบยาของประเทศ

5.6.2 มีความรู้ และมีส่วนร่วมในพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย

5.6.3 มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย

5.6.4 มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิผู้ป่วย

5.6.5 สามารถใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ

 

6. แผนการฝึกอบรม/หลักสูตร

ภาควิชาฯ มอบหมายให้คณะกรรมการการศึกษาหลังปริญญาดูแล กำกับ ประเมินแผนการฝึกอบรม/หลักสูตรให้ดำเนินไปตามเป้าประสงค์ที่วางไว้

6.1. วิธีการให้การฝึกอบรม

การจัดการฝึกอบรมตลอดระยะเวลาฝึกอบรม 4 ปี การศึกษานั้นให้จัดการฝึกอบรมดังนี้

ปีที่ 1 ผ่านการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์   ศิริราชพยาบาล

ปีที่ 2 - 4 ฝึกอบรมในสาขาตจวิทยาจำนวน 3 ปี สำหรับการฝึกอบรมในสาขาตจวิทยา ต้องได้รับการฝึกอบรมในหัวข้อดังต่อไปนี้

6.1.1 สมรรถนะการดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient Care)

การดูแลรักษาผู้ป่วยนอก 

- แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ปฏิบัติงานในภาควิชาอายุรศาสตร์ ดูแลผู้ป่วยนอกในแผนกอายุรศาสตร์อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งเหมือนแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ชั้นปีที่ 1

- แพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 - 4 ปฏิบัติงานออกตรวจ และดูแลผู้ป่วยนอกทางตจวิทยาอย่างน้อยรวม      750 ชั่วโมงต่อการฝึกอบรมตลอดหลักสูตรโดย

o แพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 -3 ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยนอกอย่างน้อย300 ชั่วโมงต่อปี

o แพทย์ประจำบ้านปีที่ 4 ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยนอกอย่างน้อย 150 ชั่วโมงต่อปี

- จัดการเรียนการสอนเฉพาะทางโรคต่างๆ เช่น leprosy, sexually transmitted diseases, photodermatology, immunodermatology,dermatopathology,contactdermatitis, genetic diseases, pediatric dermatology, laser and cosmetic dermatology , hair disorders

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีบันทึกข้อมูลในเวชระเบียนผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์

การดูแลรักษาผู้ป่วยใน

- แพทย์ประจำบ้านตจวิทยาปีที่ 1 ปฏิบัติงานในภาควิชาอายุรศาสตร์ดูแลผู้ป่วยในในแผนกอายุรศาสตร์ รวมทั้งห้องฉุกเฉิน และหอผู้ป่วยวิกฤติในความควบคุมของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมเหมือน          แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ชั้นปีที่ 1 

- แพทย์ประจำบ้านตจวิทยาปีที่ 2 - 4 ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยผิวหนังที่ได้รับการปรึกษามาจากหอผู้ป่วยแผนกอายุรศาสตร์ รวมทั้งห้องฉุกเฉิน และหอผู้ป่วยวิกฤติในความควบคุมของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม

- แพทย์ประจำบ้านตจวิทยาปีที่ 3 ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยผิวหนังที่ได้รับการปรึกษามาจากหอผู้ป่วยต่างแผนกอื่นๆ นอกเหนือจากอายุรศาสตร์ในความควบคุมของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม

- แพทย์ประจำบ้านบันทึกข้อมูลในเวชระเบียนผู้ป่วยในได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์

6.1.2 ความรู้ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วย (Medical knowledge and Skills) 

- แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 เรียนรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานประยุกต์ (correlated basic medical science) 

- แพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 - 4 เรียนรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานประยุกต์ (correlated basic dermatological science) ที่จัดโดยสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

- แพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 – 4 เรียน และปฏิบัติงานในสาขาวิชาเฉพาะทางต่างๆ ของตจวิทยา

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการเช่น grand round, clinicopathological conference,journal club, research forum และ การประชุมวิชาการ เป็นต้น

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปี ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับหัตถการ การตรวจทางห้องปฏิบัติการฯ และ     การตรวจพิเศษต่างๆ ที่ใช้ในตจวิทยา

6.1.3 การเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Practice-based Learning)

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีมีประสบการณ์การเรียนรู้ในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมสหวิชาชีพ 

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีปฎิบัติงานสอนนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านรุ่นน้อง

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปี ต้องทำงานวิจัยและมีทักษะในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การเขียนขอทุนงานวิจัย การทำงานวิจัยโดยเป็นผู้วิจัยหลัก และมีความรู้ของการใช้โปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เช่น SPSS, Excel

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีบันทึกข้อมูลในเวชระเบียนผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์

- แพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 - 4 ให้การประเมิน และวางแผนการรักษาแก่ผู้ป่วยต่างแผนกได้ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน

- แพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 - 4 รักษาผู้ป่วยบนหลักการของการใช้ยา และทรัพยากรอย่างสมเหตุสมผล

6.1.4 ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วย และญาติ

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีมีทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสารที่ดีกับผู้ร่วมงาน รวมถึงแพทย์ต่างแผนกที่มาปรึกษาเคส

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีปฏิบัติงานสอนนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านรุ่นน้อง

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีนำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาในกิจกรรมวิชาการ เช่น grand round, clinicopathological conference เป็นต้น

6.1.5 ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีเข้าร่วมกิจกรรมการให้ความรู้ทางด้านบูรณาการทางการแพทย์       

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีพัฒนาให้มีเจตคติที่ดีระหว่างการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยรวมถึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ 

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีต้องทำงานวิจัยโดยเป็นผู้วิจัยหลัก

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีเรียนรู้เพื่อให้มีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

6.1.6 การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based Practice)

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีมีประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับระบบคุณภาพของโรงพยาบาล ระบบความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมทั้งสิทธิผู้ป่วย

- แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีมีประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการดูแลรักษา หลักการบริหารจัดการ ระบบสุขภาพ และระบบยาของประเทศ

 

การจัดการฝึกอบรมตลอด 4 ปี การศึกษานั้นให้จัดการฝึกอบรม ดังนี้

- จัดการฝึกอบรมปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยนอกทางตจวิทยาอย่างน้อยรวม 750 ชั่วโมงต่อการฝึกอบรมตลอดหลักสูตร

- จัดการฝึกอบรมปฏิบัติงานในสาขาเฉพาะทางด้านต่างๆ เช่น leprosy, sexually transmitted diseases, photodermatology, immunodermatology, dermatopathology, contact dermatitis, genetic disease, pediatric dermatology, dermatologic surgery 

- ภาควิชาฯจัดให้มีวิชาเลือกได้ไม่เกิน 3 เดือนตลอดหลักสูตร โดยให้เลือกไปปฏิบัติงานในสถาบันตามที่คณะกรรมการการศึกษาหลังปริญญาเห็นสมควร และได้รับการรับรองจากแพทยสภา

- จัดให้มีประสบการณ์การเรียนรู้ entrustable professional activities (EPA) ตามที่กำหนดในภาคผนวก 1

- จัดให้มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาโดย อาจารย์ที่ปรึกษา 2 ท่านดูแลแพทย์ประจำบ้านแต่ละรุ่นแบบต่อเนื่องในระยะยาวตั้งแต่ปี 1 - 4 จนจบการศึกษา

- จัดการฝึกอบรมภายใต้สภาวะการทำงานที่เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

6.2 เนื้อหาของการฝึกอบรม/หลักสูตรต้องครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้

6.2.1 ความรู้พื้นฐาน (ภาคผนวก 2)

6.2.2 โรคหรือภาวะต่างๆ (ภาคผนวก 3)

6.2.3 การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการแปลผล (ภาคผนวก 4)

6.2.4 หัตถการต่างๆ (ภาคผนวก 5)

6.2.5 การทำวิจัยโดยฝึกอบรมระเบียบวิธีวิจัย (Research methodology) ความเชื่อถือได้และจุดอ่อนของการศึกษาแบบต่างๆ การวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การประเมินความคุ้มค่า  

6.2.6 ความรู้ด้านบูรณาการ (ภาคผนวก 6)

 

6.3 การทำงานวิจัย

แพทย์ประจำบ้านต้องทำงานวิจัย ได้แก่ งานวิจัยอย่างน้อย 1 เรื่องได้แก่ retrospective, prospective, cross sectional, systematic review หรือ meta-analysis ในระหว่างการปฏิบัติงาน 3 ปี โดยเป็นผู้วิจัยหลักหรือผู้นิพนธ์หลัก งานวิจัยดังกล่าวต้องประกอบด้วยหัวข้อหลักดังนี้

(1) วัตถุประสงค์ของการวิจัย

(2) วิธีการวิจัย

(3) ผลการวิจัย

(4) การวิจารณ์ผลการวิจัย

(5) บทคัดย่อ

 

จุดประสงค์ : เมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรมเพื่อเป็นผู้มีความรู้ความชานาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาตจวิทยาแล้ว ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถปฏิบัติงานด้านสาขาตจวิทยาได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพในโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา หรือสถาบันอื่น

Last update: 10/10/2019 03:47:29

ติดต่อเรา

สำนักงานภาควิชาฯ โทร 0-2419-4332-3

ติดต่อนัดหมายผู้ป่วย

© 2018 Department of Dermatology, Faculty of Medicine Siriraj Hospital. All rights reserved.