แผนยุทธศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ. 2566 – 2572
วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน ที่สร้างองค์ความรู้และบริการอันเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพระดับโลกผ่านการยกระดับงานวิจัยทางการแพทย์ มุ่งบริการทางการแพทย์แบบ Best Health Value ปฏิรูปการศึกษาโดยมุ่งผลลัพธ์ และพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและความยั่งยืน
แนวทางในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ฉบับ พ.ศ. 2566 – 2572
แผนยุทธศาสตร์คณะฯ ฉบับ พ.ศ. 2566 – 2572 เริ่มดำเนินการศึกษาปัจจัยภายนอก หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ESG ผ่านการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายนอกและภายในคณะฯ เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดหัวข้อที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานตามพันธกิจ 3 ด้าน คือ การศึกษา การวิจัย และการบริการทางการแพทย์และกำหนดเป็นความท้าทาย (Challenge) และโอกาส (Opportunity) ซึ่งเมื่อนำมุมมองทั้งภายในและภายนอกมาจัดลำดับความสำคัญและระดับความรุนแรงของผลกระทบทำให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการนำไปสู่การจัดทำเป็นกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาและใช้เป็นโอกาสในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 10 กลยุทธ์ และได้จัดกลุ่มเป็น 4 ยุทธศาสตร์เพื่อให้มีแนวทางชัดเจนและสามารถตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ของคณะฯ ได้
ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับงานวิจัยทางการแพทย์
วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์
World Changer ด้านงานวิจัย
วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Role)
เป็นแหล่งสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม ที่มี Impact ระดับโลก
กลยุทธ์ที่
1.1 มุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านงานวิจัยเพื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์
(Build ‘Breakthrough Research’ in Medicine for Healthcare Advancement)
เป็นแนวทางการสร้างองค์ความรู้ที่เกิดจากการคิดค้น ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาของบุคลากรภายในคณะฯ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคณะฯ อย่างแท้จริง (From ‘Applied Research’ to ‘Breakthrough Research’) ในการนำมาเป็นต้นแบบให้แก่โรงเรียนแพทย์แห่งอื่นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อทำให้คณะฯ เป็นผู้นำและผู้ชี้นำด้านวิจัยและนวัตกรรมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
1.2 ต่อยอดงานวิจัยด้วยการใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ
(Commercialize Medical Research for Business Success)
เป็นการนำเสนองานวิจัยของคณะฯ ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ หรือการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของคณะฯ (From ‘Research Success’ to ‘Adoption Success’) ซึ่งจะสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้ใหม่ หรือโมเดลทางธุรกิจใหม่ อย่างไรก็ตาม การจะสื่อสารหรือนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้นั้น จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องมือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และมีผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจหรือนักการตลาดที่จะสามารถมองหาโอกาสและการจับคู่ทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 มุ่งบริการทางการแพทย์แบบ Best Health Value
วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์
สถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน สร้างต้นแบบการรักษาทางการแพทย์ที่เป็นที่อ้างอิง
วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Role)
เป็นระบบบริการทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นการรักษาในทุกระดับถึงตติยภูมิขั้นสูงที่ยั่งยืนและเป็นแหล่งฝึกอบรมของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
กลยุทธ์ที่
2.1 มุ่งสู่การให้บริการด้วย ‘Best Health Value’
(Focus on ‘Best Health Value’ Healthcare Service)
เป็นงานบริการที่มุ่งเน้นการส่งมอบคุณค่าทางการให้บริการมากกว่าผลลัพธ์ทางการรักษาผ่านกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4 กลุ่ม ได้แก่
P1 Patient การรักษาที่เป็นมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นการรักษาแบบองค์รวม คำนึงทั้งการรักษาทางด้านกาย จิตใจและสังคมของผู้ป่วย ตลอดจนการสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมของญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ได้ผลลัพธ์ของการรักษาที่หายและฟื้นตัวเร็ว กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
ขอบเขตของการบริการที่เป็นเลิศตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ สร้างต้นแบบการรักษาในรูปแบบของการรักษาพื้นฐานที่จำเป็น จนถึงต้นแบบสุขภาพของการรักษาเฉพาะโรค ที่เกิดจากการบูรณาการแพทย์และบุคลากรทางแพทย์หลากหลายสาขาวิชา ผ่านศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช
P2 People การให้ความสำคัญของการเป็นแหล่งความรู้ที่สามารถอ้างอิงให้แก่ประชาชน การกำหนดมาตรฐานการป้องกันหรือรักษาโรคเฉพาะ การรณรงค์ให้ประชาชนมีสุขภาวะทางกายและใจที่ดีขึ้น และเป็นแหล่งพักพิงของประชาชนในระบบสุขภาพ
P3 Partner (Academic) สถานพยาบาลที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ การศึกษาทั้งในระดับก่อนและหลังปริญญา การสร้างแพทย์ที่เก่ง ดี มีคุณภาพ ให้มีมาตรฐานระดับสากลในการดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นโรงพยาบาลที่ศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิชาการ วิจัยและนวัตกรรมของนักศึกษา แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างสถาบันชั้นนำของในประเทศและนานาชาติ เป็นโรงพยาบาลที่สามารถจัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติได้
P4 Payer โรงพยาบาลที่คำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณ ต้นทุน
กลยุทธ์ที่
2.2 พัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์อย่างมืออาชีพ
(Transform to ‘Professional Healthcare System’)
เป็นแนวทางการปรับปรุงการรักษาพยาบาลจากการอาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์เป็นรายบุคคล (From ‘Healthcare Professional’ to ‘Professional Healthcare System’) ปรับเป็นการรวบรวมความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ให้เป็นระบบการรักษาพยาบาลที่มีความเชื่อมโยงกัน และเกิดการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้สามารถลดขั้นตอนการรักษาพยาบาล เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และสร้างคุณค่าให้แก่ผู้รับบริการมากยิ่งขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ปฏิรูปการศึกษาโดยมุ่งผลลัพธ์
วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์
ผู้นำด้านการศึกษาทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Role)
เป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นนำผลิตบัณฑิต แพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีคุณภาพสูง และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
กลยุทธ์ที่
3.1 มุ่งสร้างบัณฑิตที่มีสมรรถนะตามเป้าหมายการเรียนรู้
(Build High-Capability Graduates Follows Learning Outcomes)
หลักสูตรในความรับผิดชอบของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลต้องมุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามเป้าหมายการเรียนรู้ที่กำหนด (Program Learning Outcomes) ตามหลักการ Outcome-Based Education สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) พัฒนาสมรรถนะด้านต่าง ๆ ตามมาตรฐานวิชาชีพ (Competency Based) ภายใต้หลักการ Constructivism ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของผู้เรียน โดยมีคณาจารย์เป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือ (Facilitator) เพื่อเป้าหมายสำคัญให้เกิดความชำนาญหรือเชี่ยวชาญตามระดับของหลักสูตร (Mastery Based) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบัณฑิตศิริราชมีสมรรถนะที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมไทยและสังคมโลก
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
กลยุทธ์ที่
4.1 มุ่งเน้นความเป็นเลิศของพันธกิจตามความเชี่ยวชาญ
(Implement ‘Track Approach’ According to Expertise)
เป็นการปรับรูปแบบของพันธกิจที่อาจารย์หนึ่งท่านต้องรับผิดชอบ เพื่อทำให้สามารถจัดสรรเวลาและความรับผิดชอบในการทำงานตามพันธกิจ 3 ด้าน ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (From ‘Everything Approach’ to ‘Track Approach’) จากเดิมอาจารย์แพทย์จะต้องดำเนินงานทั้ง 3 ด้าน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินพันธกิจ เนื่องจากขาดความเชี่ยวชาญหรือไม่ตรงกับความต้องการของตนเอง ดังนั้น เพื่อทำให้อาจารย์แพทย์สามารถเลือกแนวทางการทำงานตามพันธกิจที่เหมาะสมต่อความต้องการและความเชี่ยวชาญของตนเองได้ จึงได้เสนอแนวทาง Track Approach ซึ่งเป็นแนวทางให้อาจารย์แพทย์เลือกพันธกิจ 2 ด้าน จาก 3 ด้าน ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตนเอง โดยต้องมีการดำเนินงานด้านวิจัยเป็นแนวทางหลักซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลและของประเทศ โดยแบ่งเป็น พันธกิจด้านการศึกษา-ด้านการวิจัย และพันธกิจด้านการรักษาพยาบาล-ด้านการวิจัย
4.2 ปรับลดขั้นตอนและกระบวนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
(Lean the Working Process to Improve Work Efficiency)
เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดจากแนวคิดเดิมที่ต้องการเพิ่มงานหรือสิ่งใหม่เข้ามาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของบริบทจากภายนอก หากแต่เปลี่ยนแนวความคิดเป็นการพิจารณาภารกิจในปัจจุบันว่าขั้นตอนหรือกระบวนการที่ทำอยู่ สามารถปรับปรุงหรือพัฒนาให้ทำได้อย่างรวดเร็วหรือมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้อย่างไร (From ‘What to Do’ to ‘What not to Do’ (Eliminate or Outsource) มีทรัพยากรด้านงบประมาณและบุคลากรที่จะทำเพียงพอหรือไม่ หรือหากบุคลากรภายในไม่สามารถทำได้ ควรจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกดำเนินงานแทน หรือสามารถลดขั้นตอนหรือกระบวนการที่ไม่จำเป็นได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้จะทำให้คณะฯ สามารถลดภาระงานของบุคลากรที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้สามารถนำเวลาที่เพิ่มขึ้นไปใช้พัฒนาความสามารถและทักษะของตนเอง หรือไปใช้ในการดำเนินงานตามพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4.3 มุ่งสู่การทำงานแบบมีส่วนร่วมและเป็นหนึ่งเดียวกัน
(Promote ‘Collaboration’ in the Working Culture)
เป็นการปรับรูปแบบกระบวนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ จากเดิมที่มีการทำงานแบบแยกส่วน ให้สามารถทำงานร่วมกันด้วยการจัดตั้งคณะทำงานหรือการบริหารงานจากส่วนกลาง (From ‘Silo’ to ‘Collaboration’) จำเป็นต้องอาศัยระบบการทำงานที่มีโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน และการใช้ทรัพยากรทั้งในด้านงบประมาณและบุคลากรร่วมกัน เพื่อทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ และลดความซ้ำซ้อน
4.4 ส่งเสริมการทำงานที่รวดเร็วด้วยระบบอัตโนมัติ
(Foster ‘Smart Automation’ to Speed Up the Working Process)
เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานในทุกด้าน เพื่อทำให้การงานเป็นระบบ (From ‘Manual’ to ‘Smart Automation’) ข้อมูลทุกประเภทถูกจัดเก็บในรูปแบบของดิจิทัล สามารถเรียกใช้ได้อย่างรวดเร็ว ทุกสถานที่ และทุกเวลา รวมถึงใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยทดแทนตำแหน่งที่สามารถใช้เครื่องจักรทดแทนมนุษย์ได้ ทำให้ลดความผิดพลาด ลดการใช้บุคลากรเพื่อไปทำงานที่มีคุณค่ามากกว่า และทำให้การบริการเป็นไปอย่างรวดเร็ว
4.5 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและยกระดับความสุขของบุคลากร
(Build ‘Engaged & Inspired Working’ Organization)
เป็นการปรับปรุงการทำงานและสวัสดิภาพของบุคลากร เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาทักษะและความสามารถอย่างต่อเนื่องในทุกสายงาน (From ‘Hard Working’ to ‘Engaged & Inspired Working’) ทั้งฝ่ายบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสนับสนุน เพื่อทำให้บุคลากรทุกคนทำอย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถเติบโตในเส้นทางอาชีพที่ตนเองเลือกได้อย่างดี และได้รับค่าตอบแทนหรือสวัสดิการที่เหมาะสม
โครงการแผนปฏิบัติการตามแผนยุทธศาสตร์