โรคสปอโรทริโคสิสผิวหนังจากสัตว์สู่คน: การระบาดในประเทศไทย

อ.พญ.ภัทริยา จิรวัฒนาดล
ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคสปอโรทริโคสิส (Sporotrichosis) เป็นโรคติดเชื้อราที่เกิดจากเชื้อรากลุ่ม Sporothrix spp. ซึ่งพบได้ในดิน พืช และสิ่งแวดล้อมต่างๆที่มีเชื้อ เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล จะทำให้เกิดการติดเชื้อในผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง มีระยะฟักตัวตั้งแต่ไม่กี่วันจนถึงหลายเดือน โดยสามารถแสดงอาการได้ในหลายรูปแบบ ที่พบบ่อยได้แก่ผื่นหรือแผลที่ผิวหนัง มักเริ่มจากตุ่มแดงหรือตุ่มหนองเล็กๆ แล้วพัฒนากลายเป็นก้อนนูนอาจมีแผลร่วมด้วย เมื่อไม่ได้รับการรักษาผื่นสามารถขยายขนาดกว้างขึ้นหรือนูนขึ้น ผิวด้านบนขรุขระหรือเป็นแผลเรื้อรังได้ ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการลุกลามไปตามทางเดินน้ำเหลืองทำให้ผื่นมีลักษณะเรียงกันเป็นแนวตรงได้ เกิดการอักเสบของทางเดินน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลืองตามมาในภายหลัง ในส่วนการติดเชื้อที่อวัยวะอื่นหรือแบบแพร่กระจายพบได้น้อยมักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพร่ระบาดของโรคสปอโรทริโคสิส เกิดขึ้นในภูมิภาคเขตร้อนชื้นหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกาใต้ ในประเทศไทยเริ่มมีการระบาดมากขึ้นในช่วงปี 2561 เป็นต้นมาโดยมีรายงานการติดเชื้อทั้งในคนและสัตว์โดยเฉพาะแมวมากขึ้น และพบมีการระบาดจากสัตว์สู่คนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแมวที่ติดเชื้อมักมีอาการแผลที่ผิวหนัง ที่ลำตัวหรือใบหน้าและอาจเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งจะต่างกับการติดเชื้อในคนที่อาการมักมีแค่ผื่นที่ผิวหนังไม่รุนแรง ไม่มีการแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น

ทีมวิจัยจากภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.พญ.เพ็ญวดี พัฒนปรีชากุลและคณะ ได้ทำการศึกษาลักษณะผื่นที่ผิวหนังย้อนหลังผู้ป่วยโรคสปอโรทริโคสิส 49 รายที่ได้รับการวินิจฉัยโรคสปอโรทริโคสิสที่ผิวหนังในช่วงปี 2561–2565 โดยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 65 และมีอายุเฉลี่ย 58 ปี ผู้ป่วนส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยแข็งแรงดีไม่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉลี่ยผู้ป่วยมีผื่นขึ้นมาแล้วประมาณ 1 เดือนก่อนมาพบแพทย์ ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 65 ของผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสแมวทั้งแมวที่ติดเชื้อและแมวที่ไม่มีอาการใดๆ แมวส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 85 เป็นแมวที่เลี้ยงลักษณะเป็นระบบเปิดคือแมวสามารถออกไปนอกบ้านได้ มีเพียงร้อยละ 15 ของผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสแมวจร ซึ่งการสัมผัส ได้แก่ การถูกแมวกัดหรือข่วน การให้อาหาร หรือแม้แต่การทำแผลให้แมว นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 8 ของผู้ป่วยทำงานเป็นสัตวแพทย์หรือผู้ช่วยสัตวแพทย์อีกด้วย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยร้อยละ 26 ไม่มีประวัติสัมผัสสิ่งใดที่ผิดปกติแต่มีผื่นขึ้นเอง โรคสปอโรทริโคสิสมีลักษณะผื่นแบ่งเป็น 2 รูปแบบ พบทั้งมีผื่นหรือแผลเดียวที่ขยายออก หรือเป็นลักษณะหลายผื่นกระจายเป็นแนวทางเดินน้ำเหลืองซึ่งพบในสัดส่วนเท่าๆกัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีผื่นที่บริเวณแขนและขา ผู้ป่วยร้อยละ 14 มีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย ในส่วนการรักษาใช้ยารับประทานต้านเชื้อราเป็นหลัก หากตอบสนองต่อยาผื่นจะดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์โดยระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับระยะเวลาการหายของผื่นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 เดือน

การศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโรคสปอโรทริโคสิสที่แสดงอาการทางผิวหนัง โดยพบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีประวัติสัมผัสกับแมว ดังนั้นการซักประวัติปัจจัยเสี่ยงอย่างละเอียด โดยเฉพาะการสัมผัสแมว จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แม้ว่ายังไม่พบรายงานการดื้อยาต้านเชื้อรา แต่การวินิจฉัยที่รวดเร็วจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักให้แก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และสัตวแพทย์ เกี่ยวกับการระบาดของโรคสปอโรทริโคสิสในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังอาการต้องสงสัยในแมว การให้การรักษาด้วยยาต้านเชื้อราที่เหมาะสม รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ และการดูแลแมวที่ติดเชื้อหรือแมวที่เลี้ยงอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนให้ได้มากที่สุด