ความจำเป็นของห้องผ่าตัด ที่มีต่อชีวิตผู้ป่วยในประเทศไทย

 อ. นพ.ศิริชัย กำเนิดนักตะ
ภาคศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

      ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลศิริราชมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น การมีห้องผ่าตัดที่มีมาตรฐานสูงและอุปกรณ์ที่ครบครันสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการผ่าตัด เพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวของผู้ป่วย และยังเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์

      โรงพยาบาลศิริราชก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2431 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอย่างครบวงจร ในปี พ.ศ. 2530 โรงพยาบาลศิริราชได้สร้างตึกสยามินทร์ขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของโรงพยาบาล

โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 และสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2535 ตึกสยามินทร์เป็นอาคารที่มีความทันสมัย มีห้องผ่าตัดรวม 64 ห้อง โดยในปี พ.ศ. 2530 ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีห้องผ่าตัดรวม 34 ห้อง ณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 4-5 ซึ่งรองรับ 8 สาขาวิชา ได้แก่ ศัลยศาสตร์ทั่วไป ศัลยศาสตร์ตกแต่ง ศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม กุมารศัลยศาสตร์ ประสาทศัลยศาสตร์ ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา และศัลยศาสตร์หลอดเลือด ส่วนสาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุมีห้องผ่าตัดแยกต่างหากที่ตึกอุบัติเหตุ

        ตลอด 30 กว่าปี ห้องผ่าตัดโรงพยาบาลศิริราชได้ถูกใช้ อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังเห็นได้จากความสำเร็จ ของการผ่าตัดที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย อาทิเช่น ศิริราชผ่าตัด ผูกถ่าย ตับสำเร็จเป็นรายแรกแห่งประเทศไทยในปี 2557 และการริเริ่มการผ่าตัดใส่หัวใจเทียม สำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย ในปีเดียวกัน จนนำมาซึ่งการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความสำเร็จในการปลูกถ่ายอวัยวะ 3 อวัยวะ ในผู้ป่วยรายเดียวสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย จนล่าสุด ในความสำเร็จ ปลูกถ่ายตับตับอ่อนกระเพาะลำไส้ สำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย ในปี 2565 อีกเช่นกัน

        โดยจากข้อมูลจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2566 โรงพยาบาลศิริราชได้มีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะทั้งหมดจำนวน 5,326 ราย โดยป็นการผ่าตัดเปลี่ยนไตแบบผู้บริจาคสมองตายจำนวน 1,091 ราย, เปลี่ยนไตแบบผู้บริจาคมีชีวิตจำนวน 689 ราย, เปลี่ยนถ่ายกระจกตาจำนวน 1,705 ราย, เปลี่ยนถ่ายไขกระดูกจำนวน 1,204 ราย และเปลี่ยนถ่ายหัวใจจำนวน 121 รายเป็นต้น ความสำเร็จในด้านนี้ช่วยเสริมความสำคัญของห้องผ่าตัดและความสามารถของทีมแพทย์ในการให้บริการที่มีมาตรฐานสูง

        นอกจากการ ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ อันซับซ้อนแล้ว ห้องผ่าตัด ยังได้ถูก ใช้ในการผ่าตัด แยกแฝดสยาม 2 คู่ ที่มีช่องอกและช่องท้องติดต่อกัน ได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งล่าสุดคือปานวาดและปานตะวัน ในปี 2550 อันก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย ได้อย่างดียิ่ง

        การใช้งานห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลศิริราชแบ่งออกเป็นหลายส่วนตามสถานที่และภาควิชาต่างๆ เช่น ตึกอุบัติเหตุมีห้องผ่าตัดอุบัติเหตุ 4 ห้อง ตึกสยามินทร์ ชั้น 3 มีห้องผ่าตัดจักษุ (Ophthalmology) 8 ห้อง และห้องผ่าตัดศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ (Orthopedic) 8 ห้อง ตึกสยามินทร์ ชั้น 4 มีห้องผ่าตัดโสต นาสิก ลาริงซ์ (ENT) 8 ห้อง, ห้องผ่าตัดหัวใจและทรวงอก (Cardiovascular Thoracic Surgery) 3 ห้อง, ห้องผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ (Neuro Surgery) 4 ห้อง, ห้องผ่าตัดศัลยศาสตร์ตกแต่ง (Plastic Surgery) 3 ห้อง และห้องผ่าตัดไฮบริด (Hybrid) 1 ห้อง ตึกสยามินทร์ ชั้น 5 มีห้องผ่าตัดศีรษะ คอ และเต้านม (Head Neck Breast Surgery) 3 ห้อง, ห้องผ่าตัดศัลยศาสตร์หลอดเลือด (Vascular Surgery) 2 ห้อง, ห้องผ่าตัดกุมารศัลยศาสตร์ (Pediatric Surgery) 2 ห้อง, ห้องผ่าตัดศัลยศาสตร์ทั่วไป (General Surgery) 5 ห้อง, ห้องผ่าตัดระบบปัสสาวะ (Urology Surgery) 4 ห้อง และห้องผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ 1 ห้อง ตึกพระศรีฯ มีห้องผ่าตัดนรีเวช (Gynaecology) 7 ห้อง และ ห้องผ่าตัดสูติ (Obstetrics) 3 ห้อง ตึกผู้ป่วยนอกมีห้องผ่าตัดเล็ก (OR Minor) 5 ห้อง และตึก 84 ปีมีห้องส่องกล้องทางเดินอาหาร (GI Endoscope) 8 ห้อง

        ในแต่ละปี โรงพยาบาลศิริราชมีผู้ป่วยที่ใช้บริการห้องผ่าตัดจำนวนมาก ข้อมูลจากระบบของโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2562-2566 มีจำนวนผู้ป่วยผู้ป่วยนอก (OPD) และ ผู้ป่วยใน (IPD) ที่ใช้บริการห้องผ่าตัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสรุปจำนวนผู้ป่วยที่ใช้บริการห้องผ่าตัดในแต่ละปีคือ ปี 2562 มีผู้ป่วย 58,443 ราย ปี 2563 มีผู้ป่วย 46,780 ราย ปี 2564 มีผู้ป่วย 36,861 ราย ปี 2565 มีผู้ป่วย 49,164 ราย และปี 2566 มีผู้ป่วย 55,280 ราย

        ปัจจุบันห้องผ่าตัดที่ใช้งานในโรงพยาบาลศิริราชเริ่มมีความทรุดโทรม แม้ว่าจะมีการดูแลและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องก็ตาม เนื่องจากมีเคสผ่าตัดต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ทำให้ต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงห้องผ่าตัดเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและลดระยะเวลารอคอย นอกจากนี้ ด้วยจำนวนห้องผ่าตัดที่จำกัด ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรอคอยเป็นเวลานาน บางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินของโรคหรืออาการให้ทรุดลงจนเกินกว่าจะรักษาได้ ห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลศิริราชมีการใช้งานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน รวมถึงในเวลากลางคืน ซึ่งทำให้ห้องผ่าตัดต้องเผชิญกับความทรุดโทรมมากขึ้น นอกจากนี้ จำนวนห้องผ่าตัดที่จำกัดทำให้ผู้ป่วยต้องรอคอยเป็นเวลานาน บางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินของโรคหรืออาการให้ทรุดลงจนเกินกว่าจะรักษาได้

        คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้มุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการพัฒนาและปรับปรุงห้องผ่าตัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีแผนงานพัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มเติมห้องผ่าตัดในตึกสยามินทร์ดังนี้ ชั้น 3 จะเพิ่มห้องผ่าตัดสำหรับศัลยศาสตร์ออโธปิดิกและจักษุวิทยา ชั้น 4 เพิ่มห้องผ่าตัดไฮบริด (Hybrid) เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นการผ่าตัดแบบแผลเล็กเพื่อทำบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยาย (Endovascular Surgery) และการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก (Minimally Invasive Thoracic Surgery) และชั้น 5 เพิ่มห้องผ่าตัดจากเดิม 19 ห้อง เป็น 23 ห้อง โดยจะมีห้องผ่าตัดไฮบริด (Hybrid) เพิ่มเติม

        นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดสร้างศูนย์ผ่าตัดเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ป่วย โดยใช้งบประมาณการดำเนินการกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลศิริราชมีศูนย์ผ่าตัดที่ทันสมัยและสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากที่สุดในประเทศไทย

        ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลศิริราชมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง ด้วยประวัติการก่อตั้งที่ยาวนานและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลศิริราชเป็นหนึ่งในห้องผ่าตัดที่ทันสมัยและมีมาตรฐานสูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยชีวิตและรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ