ยารักษาเบาหวานชนิดใหม่สำหรับการรักษาโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์:

การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานเครือข่ายของการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม

(New anti-diabetic agents for the treatment of non-alcoholic fatty liver disease:

a systematic review and network meta-analysis of randomized controlled trials).

 ผศ.ดร.พญ.ธนวรรณ คงมาลัย
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

        โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease; NAFLD) เป็นสาเหตุสำคัญของตับอักเสบเรื้อรังทั่วโลก โดยมีความชุกประมาณร้อยละ 23-38 ของประชากรโลกและสูงถึงร้อยละ 50-75 ในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วย NAFLD มีโอกาสพัฒนาไปเป็นตับอักเสบจากไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (non-alcoholic steatohepatitis; NASH), ตับแข็ง (liver cirrhosis), และมะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma; HCC) ได้ ไม่เพียงแต่ผลกระทบต่อตับเท่านั้น ยังมีรายงานว่าผู้ป่วย NAFLD มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นด้วย การวินิจฉัยและรักษา NAFLD ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สามารถชะลอการดำเนินโรคและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งที่ตับและนอกตับได้

        โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีความสัมพันธ์ในเชิงลบกับ NAFLD กล่าวคือผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีการพัฒนาของ NAFLD ไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับมากกว่าผู้ไม่เป็นเบาหวาน ในขณะเดียวกันผู้ป่วย NAFLD เองก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ให้ได้ตามเป้าหมายทำได้ยากยิ่งขึ้น

        แม้ NAFLD จะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ยาที่ใช้ในการรักษา NAFLD ยังคงมีจำกัด ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration; U.S. FDA) ได้อนุมัติยา resmetirom (ชื่อการค้า RezdiffraⓇ) เป็นยาตัวแรกสำหรับการรักษา NASH โดยได้รับการอนุมัติในข้อบ่งชี้สำหรับผู้ใหญ่ที่มี NASH และมีพังผืดที่ตับ (fibrosis) ในระดับปานกลางถึงรุนแรง อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวยังไม่มีใช้อย่างแพร่หลายและไม่มีในประเทศไทย แนวทางเวชปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการรักษา NAFLD ยังคงเน้นการลดน้ำหนักและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นทางเลือกหลักในการรักษา สำหรับการรักษา NAFLD ในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แนะนำให้ใช้ยา glucagon-like peptide 1 (GLP-1) agonists หรือยา pioglitazone ในผู้ที่ได้รับการพิสูจน์จากการตรวจชิ้นเนื้อตับว่าเป็น NASH อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงและความปลอดภัยในระยะยาวของยา pioglitazone ทำให้ไม่เกิดการใช้ยาตัวนี้อย่างแพร่หลายมากนัก

        การศึกษานี้ทำการสืบค้นวรรณกรรมจากบทความทั้งหมดที่ตีพิมพ์ในฐานข้อมูล PubMed และ Scopus ตั้งแต่เริ่มต้นฐานข้อมูลจนถึงวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2565 รวบรวมผู้ป่วย NAFLD จำนวน 2,252 รายจาก 31 การศึกษาแบบ RCTs ผลการวิเคราะห์พบว่าการใช้ยากลุ่ม GLP-1 agonists ร่วมกับการรักษามาตรฐานสามารถลดการสะสมไขมันในตับ (intrahepatic steatosis; IHS) ได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียว [unstandardized mean difference; USMD (95% CI): -3.93% (-6.54%, -1.33%)] การวิเคราะห์พื้นผิวใต้กราฟการจัดอันดับสะสม (Surface Under Cumulative RAnking curve; SUCRA) แสดงให้เห็นว่า GLP-1 agonists มีความน่าจะเป็นสูงที่สุดในการลด IHS (SUCRA 88.5%) ตามด้วย DPP-4i (SUCRA 69.6%) และ pioglitazone (SUCRA 62.2%) โดยกลไกที่ทำให้ GLP-1 agonists สามารถลดไขมันในตับได้อาจเกิดจากผลโดยตรงของยาที่มีต่อเซลล์ตับและการเผาผลาญในตับ เช่น การเพิ่มความไวต่ออินซูลินในตับ, การเปลี่ยนแปลงของยีน (gene) ที่เกี่ยวข้องกับการออกซิเดชัน (oxidation) ของกรดไขมันและการสร้างไขมันใหม่ในตับ หรืออาจเป็นผลทางอ้อมที่เกิดจากยา GLP-1 agonists ทำให้ผู้ป่วยน้ำหนักตัวลดลง

        นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ยังพบว่า GLP-1 agonists เมื่อใช้ร่วมกับการรักษามาตรฐาน ยังสามารถลดระดับเอนไซม์ตับ; AST [USMD (95% CI): -5.04 (-8.46, -1.62)], ALT [USMD (95% CI): -9.84 (-16.84, -2.85)] และ GGT [USMD (95% CI): -15.53 (-22.09, -8.97)] ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามยา GLP-1 agonists ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อึดอัดไม่สบายท้อง มากกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

       กล่าวโดยสรุปคือ ยากลุ่ม GLP-1 agonists มีแนวโน้มจะเป็นตัวเลือกการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับการลดไขมันในตับและลดระดับเอนไซม์ตับ (AST, ALT, GGT) ในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มี NAFLD ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามข้อมูลที่มีในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดจากจำนวนอาสาสมัครที่ค่อนข้างน้อย, แต่ละการศึกษามีวิธีการวัดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันและมีระยะเวลาการศึกษาสั้น ดังนั้นการศึกษา RCTs ที่มีคุณภาพสูง, มีจำนวนอาสาสมัครมากและมีระยะเวลาการศึกษานาน จึงมีความจำเป็นเพื่อให้เห็นประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยาเบาหวานกลุ่มใหม่ๆ ในการรักษาผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มี NAFLD ที่ชัดเจนมากขึ้นและเห็นผลการรักษาในระยะยาว