Siriraj Interactive Antibiogram

 อ.ดร. นพ.กรกฤษณ์ อิ่มวัฒนา
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

        การส่งตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา โดยเฉพาะการเพาะเชื้อแบคทีเรียนั้นมีความสำคัญในการวางแผนการรักษาโรคติดเชื้อ เพราะนอกจากจะได้รู้เชื้อก่อโรคแล้ว แพทย์ยังจะได้รับผลการทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพเพื่อนำไปประกอบการปรับยาเพื่อรักษาผู้ป่วยได้ด้วย อย่างไรก็ดี การเพาะเชื้อและการทดสอบความไวต่อยาต้นจุลชีพเป็นการทดสอบที่ต้องใช้เวลานาน ในปัจจุบันแพทย์ต้องรออย่างน้อย 2 วันทำการจึงจะได้รับข้อมูลดังกล่าว

        Antibiogram เป็นเครื่องมือที่แพทย์จะสามารถเข้าถึงข้อมูลการดื้อต่อยาของเชื้อจุลชีพได้คร่าว ๆ แม้จะไม่ใช่ผลการทดสอบความไวต่อยาที่แท้จริงของผู้ป่วยแต่ละคน แต่ข้อมูลทางสถิติใน antibiogram ก็สามารถช่วยให้คำแนะนำในการเลือกกลุ่มยาในการรักษาเบื้องต้นได้

      ในอดีต antibiogram เป็นรายงานประจำปีที่รวบรวมข้อมูลจากทั้งโรงพยาบาล ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศิริราช ข้อมูลดังกล่าวจึงอาจไม่จำเพาะต่อหน่วยงาน (เช่น ข้อมูลจากแผนกผู้ป่วยนอกและห้องฉุกเฉินอาจจะแตกต่างจากแผนกผู้ป่วยใน) และยังเป็นข้อมูลรวมของสิ่งส่งตรวจทุกชนิด จึงไม่สามารถแยกประเภทของโรคติดเชื้อได้ เมื่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลนำเข้าโปรแกรม Tableau เพื่อมาใช้จัดการข้อมูลสารสนเทศในโรงพยาบาล ภาควิชาจุลชีววิทยาจึงได้จัดทำ Siriraj Interactive Antibiogram ขึ้นแก้ไขปัญหาของ antibiogram ในรูปแบบเดิม และเปิดโอกาสให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้มากขึ้น

        Siriraj Interactive Antibiogram จะแบ่งข้อมูลออกเป็น 3 ส่วน โดยที่ 2 ส่วนแรกจะเป็นข้อมูล antibiogram ของโรงพยาบาลและส่วนสุดท้ายจัดทำเป็น MDR alert เพื่อให้แพทย์ได้รับข้อมูลการเพาะเชื้อที่ดื้อยาหลายขนาน (multidrug resistant organisms: MDRO) ได้รวดเร็วขึ้น

        Antibiogram ส่วนที่ 1 นั้นจัดทำเป็น interactive antibiogram ที่รวบรวมข้อมูลเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยที่สุดในโรงพยาบาลศิริราชจำนวน 10 ลำดับแรกมาสรุปเป็นกราฟรูปแบบต่าง ๆ โดยแบ่งกลุ่มเชื้อตามความรุนแรงของการดื้อยา ให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย โดยสามารถคลิกเลือกดูเฉพาะเชื้อที่สนใจและปรับ filter เลือกดูเชื้อตามหน่วยงานและตามสิ่งส่งตรวจแต่ละประเภทได้ นอกจากนี้ยังมีกราฟแสดงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการดื้อยาเป็นรายเดือนอีกด้วย

        Antibiogram ส่วนที่ 2 จะมีลักษณะแบบ antibiogram ทั่วไป คือจะเป็นตารางรวมเชื้อที่แยกได้ในโรงพยาบาลศิริราชและร้อยละความไวต่อยาต้านจุลชีพชนิดต่าง ๆ แม้จะมีความ interactive น้อยกว่าและเข้าใจยากกว่า antibiogram ส่วนแรก แต่ในตารางนี้จะมีข้อมูลเชื้อแบคทีเรียและยาต้านจุลชีพมากกว่า ทำให้แพทย์สามารถเลือกดูข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้นได้

        Antibiogram ทั้ง 2 ส่วนนั้นจะแสดงค่าเริ่มต้นเป็นข้อมูลของทั้งโรงพยาบาล รวมทุกสิ่งส่งตรวจ ในปีปฏิทินก่อนหน้า (เช่น ในปี 2567 จะแสดงข้อมูลของปี 2566) เช่นเดียวกับ antibiogram ทั่วไป แต่ผู้ใช้งานสามารถปรับ filter เพื่อเลือดดูข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ตามสิ่งส่งตรวจและช่วงเวลาที่สนใจได้

        MDR alert ในส่วนที่ 3 ของ Siriraj Interactive Antibiogram นั้น จะมีความแตกต่างจาก 2 ส่วนแรก เนื่องจากสามารถแสดงข้อมูลของผู้ป่วยเป็นรายบุคคลและมีการ update ข้อมูลแบบรายวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แพทย์สามารถใช้ติดตามผลการเพาะเชื้อของผู้ป่วยในความดูแลได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในกรณีที่ผลเพาะเชื้อพบเชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาหลายขนาน โดยแพทย์สามารถปรับ filter ให้แสดงผลเฉพาะในหอผู้ป่วยหรือแผนกที่ตนดูแล และดูข้อมูลเชื้อดื้อยาของคนไข้ก่อนการราวน์ในแต่ละวันได้

      ข้อมูลการดื้อหรือไวต่อยาต้านจุลชีพใน Siriraj Interactive Antibiogram นั้นเป็นเพียงข้อมูลที่ใช้แนะนำแนวทางในการเลือกยาต้านจุลชีพ การจะใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น แพทย์จำเป็นต้องทำการฝึกฝน เปรียบเทียบข้อมูลใน antibiogram กับข้อมูลจริงของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้สามารถเลือกยาต้านจุลชีพให้เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ฐานข้อมูล Siriraj Interactive Antibiogram จึงจัดเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้เรื่องการให้ยาต้านจุลชีพสำหรับแพทย์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

      ปัจจุบันแพทย์ในโรงพยาบาลศิริราชสามารถเข้าถึง Siriraj Interactive Antibiogram ได้ผ่านทาง Siriraj Data Portal (portal.sidata.si) โดยใช้ username และ password ของพนักงานภายใน (เช่นเดียวกับระบบ SiVwork) เพื่อเป็นการรักษาความลับของข้อมูลของผู้ป่วย หากมีข้อสงสัยเรื่องการใช้งานหรือคำแนะนำสามารถติดต่อได้ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา เพื่อที่ทางภาควิชาฯ จะได้นำข้อมูลไปพัฒนารายงานและสร้างฐานข้อมูลอื่น ๆ เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาผู้ป่วยของแพทย์ได้ต่อไป