รู้จักองค์กรรายละเอียด...
ภาควิชาตจวิทยามีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๐ ในเวลานั้นเรียกว่า “แผนกโรคผิวหนัง” เป็นแผนกวิชาอิสระแยกจากแผนกอายุรกรรม มีอาจารย์นายแพทย์ประชา โมกขเวส เป็นหัวหน้าแผนก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๗ อาจารย์นายแพทย์ประชา โมกขเวส ลาออกจากราชการ แผนกผิวหนังจึงถูกยุบรวม กับแผนกอายุรกรรมซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาอายุรศาสตร์ แผนกโรคผิวหนังได้เปลี่ยนมาเป็น สาขาโรคผิวหนังเป็นสาขาหนึ่งในภาควิชาอายุรศาสตร์ ในช่วงนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ กังสดาลย์ ทำหน้าที่สอนวิชาโรคผิวหนังจนถึง ปี พ.ศ.๒๔๙๕ ศาสตราจารย์นายแพทย์สร เมตติยวงศ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสาขาวิชาโรคผิวหนัง ได้เริ่มให้มีการเรียนการสอนทางด้านผิวหนังอย่างเป็นระบบ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๙ สาขาโรคผิวหนังได้รับ ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองน่าน วิภาตะวณิช มาปฏิบัติงาน หลังจากนั้นก็มีอาจารย์ที่ได้รับการฝึกอบรมจากต่างประเทศแล้วกลับมาปฏิบัติงานในสาขาโรคผิวหนังตามลำดับดังนี้
สาขาโรคผิวหนัง รับหน้าที่บริการตรวจผู้ป่วยโรคผิวหนังทั่วไปและกามโรค เดิมมีห้องตรวจผู้ป่วยนอก อยู่ที่ชั้น ๒ ตึกผู้ป่วยนอกริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดบริการผู้ป่วยโรคผิวหนังทั่วไปตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ในตอนบ่ายมีคลินิกเฉพาะโรคคือ คลินิกโรคเรื้อน มีการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ ๓ และ ๔ ในหลักสูตรเดิมซึ่งปัจจุบัน คือ ชั้นปีที่ ๕ และ ๖ และ แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ ที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอกโรคผิวหนังด้วย
กำเนิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาตจวิทยา
ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ เริ่มมีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาโรคผิวหนังเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีแพทย์ประจำบ้านสมัครเข้าฝึกอบรม ๑ ท่าน คือ แพทย์หญิง เยาวเรศ ชอโฉม (นาคแจ้ง) อาจารย์ผู้ควบคุมการฝึกอบรมได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทองน่าน วิภาตะณิช หลักสูตร ๓ ปี โดยผ่านการเป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ทั่วไป ๑ ปี และฝึกอบรมด้านโรคผิวหนัง ในขณะนั้นมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิวัฒน์ จันทรสกุล จากภาควิชาพยาธิวิทยา มาร่วมสอนด้านตจพยาธิวิทยาเป็นประจำทุกสัปดาห์
การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านตจวิทยา ระยะเริ่มต้นมีผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมน้อย จึงมีแพทย์ประจำบ้านตจวิทยา ปีละ ๑ ท่าน แพทย์ประจำบ้าน ๓ รุ่นแรก ที่ผ่านการฝึกอบรมที่สาขาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ได้แก่
กำเนิดภาควิชาตจวิทยา
ศาสตราจารย์นายแพทย์ เมระนี เทียนประสิทธิ์ อดีตหัวหน้าสาขาโรคผิวหนัง (ตจวิทยา) ได้เสนอโครงการแยกสาขาโรคผิวหนัง ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ เป็นภาควิชาตจวิทยา กระบวนการและขั้นตอนในการแยกภาควิชาใช้เวลานาน ๓ ปี ศาสตราจารย์นายแพทย์เมระนี เทียนประสิทธิ์ เกษียณอายุราชการปี พ.ศ.๒๕๓๔ ก่อนที่การดำเนินการจัดตั้งภาควิชาตจวิทยา จะสำเร็จ
ศาสตราจารย์คลินิกแพทย์หญิงพัชรี สุนทรพะลินได้ดำเนินการต่อมาจนสำเร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๖ สาขาโรคผิวหนังได้รับการประกาศให้เป็น “ภาควิชาตจวิทยา” ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๐ ตอนที่ ๑๗ เป็นภาควิชาลำดับที่ ๒๓ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อแยกเป็นภาควิชาตจวิทยา ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ มีอาจารย์ จำนวน ๕ ท่าน ดังนี้
ที่ตั้งภาควิชาตจวิทยา
สาขาโรคผิวหนังเดิมอยู่ที่ตึกธนาคารไทยพาณิชย์ ชั้น ๑ ประกอบด้วย ห้องหัวหน้าภาคสาขาวิชา ซึ่งใช้ในกาเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้าน ห้องปฏิบัติการเพาะเชื้อรา และห้องพักอาจารย์ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หน่วยตรวจโรคผิวหนังได้ย้ายมาจาก ชั้น ๒ ตึกผู้ป่วยนอกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไปอยู่ที่ ชั้น ๔ ตึกผู้ป่วยนอก ริมถนนอรุณอมรินทร์ จึงได้ย้ายสำนักงานและห้องพักอาจารย์มาอยู่รวมกันที่ตึกผู้ป่วยนอก และจัดสรรพื้นที่เป็นห้องประชุม ซึ่งได้รับทุนทรัพย์สินสนับสนุนจากอาจารย์นายแพทย์ประชา โมกขะเวส ห้องประชุมนี้จุคนได้ ๖๐-๘๐ คน ได้ตั้งชื่อว่าห้องประชุมประชาโมกขะเวส เพื่อเป็นเกียรติและเป็นการระลึกถึงบรูพาจารย์ของสาขาตจวิทยา ห้องประชุมนี้ได้ใช้เป็นสถานที่ในการเรียนการสอน มาจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ภาควิชาตจวิทยา ได้ย้ายสำนักงานภาควิชาจากตึกผู้ป่วยนอก ชั้น ๔ มาอยู่ที่ชั้น ๙ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน
© 2018 Department of Dermatology, Faculty of Medicine Siriraj Hospital. All rights reserved.