เวชศาสตร์ฟื้นฟูดูแลพฤติกรรม อารมณ์และจิตใจในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
(Rehabilitation Post-Stroke BPS Team)
ความเป็นมา
ปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์และจิตใจ (Behavioral Psychological Symptoms: BPS) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะ Mind Cognitive Impairment (MCI) ร่วมด้วยนั้นจะพบอาการ BPS ได้ถึงร้อยละ 75 (Phanasathit M, et al., 2010) ทั้งนี้อาการที่พบได้บ่อยก็คือ อาการเฉยเมย ขาดความกระตือรือร้น หรือไม่แสดงออกซึ่งอารมณ์ (Apathy) ความพลุ่งพล่าน กระวนกระวายใจ (Agitation) และอารมณ์ซึมเศร้า (Depression) (กอบหทัย สิทธิรณฤทธิ์, 2554) อาการเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับลักษณะบุคลิกภาพของผู้ป่วยก่อนเกิดโรคที่มีความไม่เสถียรทางอารมณ์สูง (High nueroticism) และความยินยอมเห็นใจต่ำ (Low agreeableness) (Greenop KR, 2000) นอกจากนั้น ปัญหา BPS ไม่ได้ส่งผลกระทบทางลบเพียงเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเท่านั้น หากแต่ยังก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานจิตใจแก่ผู้ดูแลเป็นอย่างยิ่ง โดยมักสืบเนื่องจากความไม่ร่วมมือในการรักษา ปัญหาด้านสัมพันธภาพ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและกฎหมาย เป็นต้น
ความท้าทายประการสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการ BPS ได้แก่ 1. การที่ผู้บำบัดจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายในการวางแผนและดำเนินการรักษา ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ทางการแพทย์ด้านการฟื้นฟู ประสาทวิทยา จิตวิทยา อรรถบำบัด กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด และการพยาบาล ทั้งนี้เพื่อให้การรักษามีความเหมาะสมแก่กรณีและสถานการณ์
2. ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาแบบใดที่มีผลการศึกษาที่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน หลักการรักษาจึงมุ่งเน้นการแก้ไขสาเหตุของอาการ พร้อมไปกับการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการ โดยการรักษาอาการ BPS อาจใช้วิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยา หรือวิธีการรักษาด้วยยา หรือวิธีการผสมผสานกันก็ได้ ด้วยเหตุนี้ การรักษาจำเป็นต้องดำเนินการโดยทีมสหสาขาวิชาชีพจึงจะก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่ผู้ป่วย และ
3. ในระหว่างกระบวนการฟื้นฟู ผู้ป่วยจะตกอยู่ในภาวะที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ดูแลทั้งที่เป็นการชั่วคราวหรือถาวร ผู้ดูแลจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักที่อาจซ้ำเติมปัญหา BPS ให้แย่ลงหรือช่วยให้บรรเทาขึ้นได้ ดังนั้น การดูแลผู้ดูแลโดยอาศัยแนวทางสนับสนุนเชิงจิตสังคม (Psychosocial support) ควบคู่ไปกับการรักษาอาการ BPS ของผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ และทีมสหสาขาวิชาชีพจะมีบทบาทอย่างยิ่งในกระบวนการนี้
จากสภาพปัญหาและความท้าทายข้างต้นจึงเกิดการรวมตัวเป็นชุมชนนักปฏิบัติขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการ BPS ให้ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ครอบคลุมสภาพปัญหา และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการทั้งแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล
วัตถุประสงค์
1. จัดการองค์ความรู้เรื่องการดูแลพฤติกรรม อารมณ์และจิตใจในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
2. เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผู้ดูแล
3. ยกระดับการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรม อารมณ์และจิตใจในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมปัญหาของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล
ตัวชี้วัดและเป้าหมาย
1. จำนวนครั้งในการประชุม 12 ครั้ง/ปี
2. จำนวนสาระความรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน (เช่น ปัญหาจากการทำงาน ความรู้จากการอบรม) 12 เรื่อง/ปี