ผู้ช่วยเลขานุการรายวิชามืออาชีพ
(Professional Assistant Secretary M.Ed Course : PASMC)

ความเป็นมา

ประวัติของการทำงานของผู้ช่วยเลขานุการรายวิชา

การพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตหลักสูตร ปรับปรุง พ.ศ. 2557 การพัฒนาหลักสูตรเน้นหลักการของ “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยเฉพาะประเด็นการใช้ยาและเทคโนโลยีที่สมเหตุสมผลในรายวิชาคลินิกต่างๆ การเรียนในหลักสูตรนี้เน้นการเรียนรู้ร่วมกันแบบกลุ่มย่อยเพื่อเสริมสร้างให้นักศึกษามีน้ำใจช่วยเหลือกัน เพื่อให้ได้บัณฑิตแพทย์และพลเมืองที่มีคุณภาพ เนื้อหาของหลักสูตรนี้เน้นการ“สร้างนำซ่อม” สุขภาพ โดยเพิ่มรายวิชาเวชศาสตร์ป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพ (Preventive Medicine and Health Promotion) ในชั้นปี 3 รายวิชาเวชศาสตร์ชุมชนและการส่งเสริมสุขภาพ (Community Medicine and Health Promotion) ในชั้นปี 5 รวมทั้งมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตแพทย์ให้พร้อมรับการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนของประเทศ โดยให้นักศึกษาทุกคนเรียนรายวิชาภาษาอังกฤษระดับ 3 (English Level 3) และภาษาอังกฤษระดับ 4 (English Level 4) ในภาคการศึกษาที่ 1 และ 2 ของชั้นปี 1 ตามลำดับ เพื่อให้นักศึกษาทุกคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีในมาตรฐานระดับสูงสุดตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

เพื่อให้การพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตตอบสนองต่อสถานการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม เนื้อหาของหลักสูตร ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2557 จึงเน้นหลักการของเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กลุ่มโรคไม่ติดต่อ โรคอุบัติใหม่ และเน้นการมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพและลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ในรายวิชาชีวิตมนุษย์ (The Human Life) รายวิชาอายุรศาสตร์ (Medicine) รายวิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม-เวชศาสตร์ครอบครัว (Preventive and Social Medicine-Family Medicine) และรายวิชาจิตเวชศาสตร์ (Psychiatry)

เพื่อให้สอดคล้องและตอบสนองต่อข้อเสนอแนะจากการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2552 เรื่อง “การบริบาลสุขภาพที่มุ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลาง” และ “การแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์” การปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตครั้งนี้จึงยังคงรายวิชาการแพทย์ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ (Humanistic Medicine) ไว้ และได้เพิ่มรายวิชาที่ไม่เคยมีในหลักสูตรเดิม คือ รายวิชาเวชจริยศาสตร์และกฎหมาย (Medical Ethics and Laws) รายวิชาเวชศาสตร์ชุมชนและการส่งเสริมสุขภาพ (Community Medicine and Health Promotion) ด้วย

เพื่อให้การพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตตอบสนองต่อลักษณะของผู้เรียนที่เปลี่ยนไปจากอดีต รวมทั้งตอบสนองต่อเกณฑ์มาตรฐานระดับนานาชาติ Basic Medical Education World Federation for Medical Education Global Standards ค.ศ. 2012 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ปรับปรุง พ.ศ. 2557 เพื่อวางนโยบายการปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้กำหนดว่าหลักสูตรฉบับใหม่นี้จะเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ของการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่เรียกว่า outcome-based curriculum โดยคณะฯ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของคณาจารย์ ผู้ใช้บัณฑิต บัณฑิตแพทย์ที่จบใหม่ นักศึกษาแพทย์ปัจจุบัน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อร่วมกันกำหนดเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตแพทย์ศิริราช ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ครั้งที่ 11/2556 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 โดยการนำอักษรตัวแรกของคำในภาษาอังกฤษมาเรียงได้เป็น “SKILLS” ดังนี้

  • Soul: หมายถึง จิตวิญญาณของความเป็นแพทย์ ประกอบด้วยคุณลักษณะย่อยสามประการ ได้แก่
    • มีคุณธรรมแห่งวิชาชีพ
    • คำนึงถึงผู้ป่วย
    • มีความรับผิดชอบต่อสังคม
  • Knowledge: หมายถึง มีความรู้ทางวิชาชีพ (professional knowledge) ประกอบด้วยคุณลักษณะย่อยสามประการ ได้แก่
    • ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ (basic preclinical knowledge)
    • ความรู้ในการดูแลผู้ป่วย (clinical knowledge)
    • ความรู้ในการวิจัย (research knowledge)
  • Information: หมายถึง ทักษะที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล สื่อ เทคโนโลยี (information, media, technology skills) ประกอบด้วยคุณลักษณะย่อยสามประการได้แก่
    • Information literacy: การเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้ถูกต้อง และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้และนำเสนอข้อมูลบนพื้นฐานของจริยธรรม
    • Media literacy: การเข้าถึง เข้าใจ และใช้ประโยชน์จากสื่อในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีวิจารณญาณ และมีประสิทธิภาพ
    • Technology literacy: สามารถใช้งานเทคโนโลยี (คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ระบบดิจิตอลในรูปแบบต่างๆ) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า และอยู่บนพื้นฐานทางจริยธรรม
  • Learning: หมายถึง ทักษะการเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (learning and innovation skills) ประกอบด้วยคุณลักษณะย่อยสี่ประการได้แก่
    • Creativity: มีความคิดสร้างสรรค์
    • Critical thinking skills: มีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ วิเคราะห์ ปัญหาด้วยหลักของเหตุและผล
    • Communication skills: มีความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่น ทั้งโดยการรับ ฟัง การพูด การอ่าน และ การเขียน รวมถึงการแสดงออกถึงแนวคิดในรูปแบบต่างๆ อย่างเหมาะสม
    • Collaboration: การร่วมมือกับผู้อื่นในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งกับผู้ร่วมงานที่มีแนวคิดเหมือนกันหรือต่างกัน นำไปสู่ทีมงานที่ผู้ร่วมงานเคารพ ให้เกียรติกัน และรับผิดชอบร่วมกัน
  • Leader: หมายถึง ทักษะความเป็นผู้นำ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการใช้ชีวิต (leadership and life skills) ประกอบด้วยคุณลักษณะย่อยสองประการ ได้แก่
    • Leadership: ความเป็นผู้นำ ได้แก่ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นใน สังคมที่มีความหลากหลาย สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน และ สามารถชักนำผู้อื่นให้ร่วมกันสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม
    • Life skills: ทักษะการใช้ชีวิต ได้แก่ flexibility (ความยืดหยุ่น), self-sufficiency (ความรู้จักพอเพียง), และ self-direction (การใช้ชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมาย)
  • Skills: หมายถึง มีทักษะทางวิชาชีพ (professional skills) ประกอบด้วยคุณลักษณะย่อยสี่ประการ ได้แก่
    • ทักษะการดูแลรักษาผู้ป่วย (clinical skills)
    • ทักษะการสืบค้นเพิ่มเติมทางการแพทย์ (medical investigative skills)
    • ทักษะการทำหัตถการทางการแพทย์ (procedural skills)
    • ทักษะการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (health promotion and disease prevention skills)

บัณฑิตแพทย์ที่จบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลย่อมได้รับการหล่อหลอมโดยวัฒนธรรมศิริราช (SIRIRAJ Culture) จากการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดหลักสูตร ดังนั้น คำว่า SIRIRAJ ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรม  ศิริราช จึงเป็นพื้นฐานในการสร้างบัณฑิตแพทย์ให้มีคุณลักษณะทั้งหกประการ (SKILLS) ข้างต้น  ซึ่งวัฒนธรรมศิริราชจะเป็นเนื้อในที่แฝงอยู่ในตัวบัณฑิตแพทย์ทุกคน แสดงถึงคุณค่าพื้นฐานที่สำคัญเจ็ดประการ ได้แก่

  • Seniority (ความรักกันดุจพี่น้อง ความเป็นกัลยาณมิตร)
  • Integrity (ความซื่อสัตย์ ถูกต้อง เชื่อถือได้)
  • Responsibility (ความรับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ และตรงต่อเวลา)
  • Innovation (มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์)
  • Respect (การให้เกียรติกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา)
  • Altruism (การคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง)
  • Journey to excellence and sustainability (ความมุ่งมั่นพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน)

 

บัณฑิตแพทย์ที่จบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะใช้คุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นเพื่อสร้างประโยชน์ในวงกว้าง เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมในสามระดับ

  • Thai society: บัณฑิตแพทย์ศิริราช มุ่งรับใช้สังคมไทยเป็นอันดับแรก
  • ASEAN community: บัณฑิตแพทย์ศิริราช มีความสามารถที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาคมอาเซียน (ASEAN)
  • World community: เมื่อบัณฑิตแพทย์ศิริราช แสดงศักยภาพ สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมไทยและประชาคมอาเซียนแล้ว สามารถแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมโลกได้ด้วย

เมื่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตแพทย์ได้แล้ว คณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2557 จึงร่วมกันกำหนดเนื้อหา กระบวนการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนวิธีการประเมินผลของแต่ละรายวิชาและภาพรวมของหลักสูตรฯ เพื่อให้ตอบสนองต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ข้างต้น

คณะกรรมการฯ ได้กำหนดให้หลักสูตร ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2557 มีเนื้อหาและการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับเตรียมแพทย์ ปรีคลินิก และคลินิก การจัดหลักสูตรให้เป็นแบบบูรณาการ (integration) ทั้งในระดับเดียวกัน (horizontal integration) และต่างระดับ (vertical integration) ให้มากที่สุด โดยหลักสูตรฯ ระดับปรีคลินิกเป็นแบบอิงระบบ (system-based)  เนื้อหาในแต่ละรายวิชาควรเป็นเนื้อหาที่ต้องรู้ (must know content) เป็นหลัก การจัดการเรียนการสอนให้เป็นแบบ active learning ที่มากขึ้น เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ กระตุ้นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตอบสนองต่อผู้เรียนในยุคปัจจุบัน เน้นให้มี early clinical exposure และให้เพิ่มรายวิชาเลือกเสรีตลอดหลักสูตร

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2557 ขึ้นอีกชุดหนึ่ง เพื่อดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรตามนโยบายข้างต้น โดยกำหนดรายวิชาต่างๆ ในหลักสูตร แต่งตั้งคณะกรรมการรายวิชาต่างๆ (ชุดใหม่) ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์ทั้งระดับปรีคลินิกและคลินิกเพื่อให้เกิดการบูรณาการเนื้อหาและการจัดการเรียนการสอนอย่างแท้จริง เพิ่มรายวิชาการศึกษาวิชาแพทย์ (Medical Education) และรายวิชาวิชาชีพแพทย์ (Medical Profession) ในชั้นปีที่ 1 เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความสำคัญของการเรียนแพทย์และเพื่อเป็นการเชื่อมโยงเนื้อหาตั้งแต่ระดับชั้นเตรียมแพทย์ เพิ่มรายวิชาอาการวิทยา (Symptomatology) ในชั้นปีที่ 3 เพื่อเน้นให้มี early clinical exposure ในหลักสูตร และเพิ่มหน่วยกิตรวมของรายวิชาเลือกเสรีเป็น 11 หน่วยกิต (จากเดิม 6 หน่วยกิต)

จะเห็นได้ว่าหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตหลักสูตร ปรับปรุง พ.ศ. 2557 เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ของการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่เรียกว่า outcome-based curriculum จึงมีรายวิชาที่ไม่ได้สังกัดภาควิชาโดยตรงแต่ใช้การดำเนินด้วยทีมกรรมการรายวิชา ในการทำงานมีทั้งการร่วมมือจากหลายภาควิชาหรือต่างคณะมาสอนร่วมกัน อีกทั้งวิชาเลือกเสรีมีอาจารย์จากต่างคณะมาสอน ทำให้คณะมีการจัดตั้งเจ้าหน้าที่มาช่วยประสานงานรายวิชาที่เรียกว่า ผู้ช่วยเลขานุการรายวิชาให้ดูแลรายวิชา ทั้งนี้ ฝ่ายการศึกษาเห็นถึงความสำคัญของการจัดการความรู้ ซึ่งผู้ช่วยเลขานุการรายวิชามีความชำนาญ และองค์ความรู้ในแต่ละรายวิชาแตกต่างกันไป เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนในเรื่องการทำงานที่เป็นการทำงานลักษณะคล้ายกัน ฝ่ายการศึกษาจึงจัดกิจกรรม COP ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ช่วยเลขานุการรายวิชามีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยกัน

วัตถุประสงค์
1. เป็นช่องทางให้ผู้ช่วยเลขานุการรายวิชามีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยกัน

ตัวชี้วัดและเป้าหมาย
1. ผู้ช่วยเลขานุการรายวิชาสามารถจัดทำ  มคอ.3
2. ผู้ช่วยเลขานุการรายวิชาสามารถจัดทำ มคอ.5

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.