ผลงานวิจัย เรื่อง การศึกษาลักษณะครอนอไทป์ และความต้องการรูปแบบการจัดตารางการปฏิบัติงานของพยาบาล โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย (Chronotypes and Scheduling Needs of Nurses Operating in University-Affliated Hospitals)
วัตถุประสงค์การวิจัย: เพื่อศึกษาลักษณะครอนอไทป์ และความต้องการรูปแบบการจัดตารางการปฏิบัติงานของพยาบาล
การออกแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงพรรณา (descriptive study)
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาล จำนวน 831 คน ปฏิบัติงานหมุนเวียนแบบผลัด อายุงาน 1 ปีขึ้นไป ปฏิบัติงานเวร บ่าย/ดึก อย่างน้อย 1 เวรต่อเดือน สังกัดฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามผ่าน Google Form แบบสอบถามประกอบด้วย3 ส่วน คือ ข้อมูลส่วนบุคคล ความต้องการรูปแบบการจัดตารางการปฏิบัติงาน และแบบวัด Morningness -Eveningness Questionnaires ฉบับภาษาไทย (T-MEQ) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้จำนวน ร้อยละ และสถิติทดสอบไคสแควร์ (chi-squared test)
ผลการวิจัย: พยาบาลจำนวน 831 คน ส่วนใหญ่มีลักษณะครอนอไทป์เป็นอินเทอมิเดียไทป์ (ร้อยละ 64.7) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความต้องการการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาเวรดึก การปฏิบัติงาน10 ชั่วโมงต่อวัน การปฏิบัติงานแบบเวรเดียวตลอด ประสบการณ์ในการทำงานประเภทผู้ป่วยที่ ดูแล สถานภาพสมรส และภาระที่ต้องรับผิดชอบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)ความต้องการรูปแบบการจัดตารางการปฏิบัติงานส่วนใหญ่พยาบาลมีความต้องการปฏิบัติงานเวรเช้า (ร้อยละ 51.4) ปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาเวรเช้า (ร้อยละ 73.9) และต้องการเลือกวันหยุดได้ด้วยตนเอง (ร้อยละ 93.5) พยาบาลส่วนใหญ่ไม่ต้องการหมุนเวียนหน่วยงาน (ร้อยละ 90.5) และไม่เลือกปฏิบัติงานแบบเวรเดียวตลอด (ร้อยละ 65.8) ประสบการณ์ในการทำงาน ประเภทผู้ป่วยที่ดูแล สถานภาพสมรสและภาระที่ต้องรับผิดชอบ มีความสัมพันธ์กับความต้องการรูปแบบการจัดตารางการปฏิบัติงานในการขึ้นเวรผลัด และการปฏิบัติงานแบบเวรเดียวตลอด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)
ข้อเสนอแนะ: ผู้บริหารองค์กรควรสอบถามลักษณะครอนอไทป์ ความต้องการรูปแบบการจัดตารางการปฏิบัติงานและเปิดโอกาสให้พยาบาลได้เลือกเวรที่ต้องการและปรับรูปแบบการจัดเวรให้มีความยืดหยุ่น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ผู้วิจัย ดารณี พิพัฒนกุลชัย วท.ม.* เอื้องพร พิทักษ์สังข์ กจ.ม.** ราตรี ฉิมฉลอง พย.ม. *** จันทนา นามเทพ วท.ม. ****
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/article/view/251740