ชุมชนนักปฏิบัติ พยาบาลผู้ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

ความเป็นมา
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีสายสวนทางหลอดเลือดดำทั้งหลอดเลือดดำส่วนปลาย (peripheral intravenous catheter) และหลอดเลือดดำส่วนกลาง เช่น PICC Line, Double/Triple Lumen, Port A cath , Hickman Catheter เป็นต้น  เป็นกิจกรรมทางการพยาบาลที่สำคัญและพบได้บ่อยถึงร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล จากการสำรวจความชุกของการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำในปี พ.ศ. 2562 และ 2563 พบความหลากหลายในการปฏิบัติการดูแลสายสวนทางหลอดเลือดดำ เช่น การปิด dressing ด้วยวัสดุหลายชนิดในตำแหน่งเดียวกัน การปิด dressing ทับ exit sit  ไม่ติดป้ายระบุวันหมดอายุของตำแหน่งที่แทงเข็ม มีเลือดไหลย้อนในสาย catheter และสาย extension มีเลือดซึมบริเวณ exit site การยึดตรึงสายสวนไม่ถูกวิธี เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบภาวะแทรกซ้อนจากการให้สารน้ำ ได้แก่ อัตราเกิดหลอดเลือดดำส่วนปลายอักเสบ ร้อยละ 1.84 อัตราการรั่วซึมของสารน้ำ ร้อยละ 1.19  แม้ว่าอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้ป่วย จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในคณะกรรมการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีสายสวนทางหลอดเลือดดำ ฝ่ายการพยาบาลฯ พบโอกาสพัฒนาในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในประเด็นต่างๆ เช่น การเลือกตำแหน่งที่แทงเข็ม (Site selection) เทคนิคการแทงเข็ม การเปลี่ยนวัสดุปิดตำแหน่งการแทงเข็ม (Dressing change) การล้างสายและล๊อคสายสวน (Flushing and Locking) เป็นต้น

ดังนั้น ฝ่ายการพยาบาลฯจึงจัดตั้งชุมชนนักปฏิบัติ “พยาบาลผู้ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ” โดยนำกระบวนการจัดการความรู้มาใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง Tacit Knowledge ของบุคลากรในฝ่ายการพยาบาลฯ กับ Explicit Knowledge เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำที่มีการพัฒนาและเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมสมรรถนะของพยาบาลให้เป็น role model และพัฒนาคลังความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ ได้รับการดูแลตามมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานสากลที่เป็นแนวทางเดียวกันทั้งองค์กร

วัตถุประสงค์
1. พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่มีสายสวนทางหลอดเลือดดำ
2. พัฒนาสมรรถนะของสมาชิกให้เป็น role model ในการดูแลผู้ป่วยที่มีสายสวนทางหลอดเลือดดำ
3. พัฒนาสมรรถนะพยาบาลให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่มีสายสวนทางหลอดเลือดดำที่ทันสมัย มุ่งสู่ความเป็นเลิศ
4. ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยและการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

ตัวชี้วัดและเป้าหมาย
1. จำนวนสาระความรู้ 2 เรื่อง/ปี
2. อัตราสมาชิกกลุ่มเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครบทุกครั้ง ≥ 80 %

ความรู้ที่สำคัญ
1. ความรู้และทักษะเกี่ยวกับการเลือกตำแหน่งการแทงเข็ม การเลือกหลอดเลือด การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสม การปิด dressing การเปลี่ยนตำแหน่งแทงเข็ม การสวนล้างสายสวน การเปลี่ยนชุดให้สารน้ำ
2. ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของยา สารน้ำ สารอาหารแต่ละตัว ความเข้ากันของยาและสารละลาย
3. ความรู้ในการเฝ้าระวังหลังการบริหารยาหรือสารละลายแต่ละชนิด
4. ความรู้และทักษะการประเมินและให้การพยาบาลได้ถูกต้องเหมาะสมเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการให้ยา/สารน้ำ/สารอาหาร ได้แก่ Phlebitis, Infiltration, Extravasation, Infection, Hematoma, Occlusion, Nerve injury เป็นต้น

ผู้ประสานงาน
ฝ่ายการพยาบาล โทร. 4 1193 (คุณสมพร)
งานจัดการความรู้ โทร. 9 9009 ต่อ 505 (คุณวิจิตรา)
update : 29/02/2024

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.