สาระความรู้ CoP การให้ความรู้ทางทันตกรรม
เรื่อง : ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea)
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (obstructive sleep apnea: OSA) เป็นโรคของการนอนหลับที่พบบ่อย ในคนอายุ 30-35 ปี พบได้ประมาณร้อยละ 4 ในเพศชายและร้อยละ 2 ในเพศหญิง อาการนอนกรนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจมาก จนกระทั่งทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ ถ้ามีการหยุดหายใจหลายครั้งใน ขณะนอนหลับจะส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลด น้อยลง ซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ คือเมื่อเกิดการหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่สนิท มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วง ๆ ส่งผลให้นอนหลับไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะมีแนวโน้มที่จะทำงานได้ไม่เต็มที่นัก มีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness) และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน เช่นในโรงงาน หรือขณะทำงานกับเครื่องจักรกล มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเนื่องจากการหลับในขณะขับขี่รถมากขึ้นเมื่อเทียบกับคนปกติ
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่น ๆ หลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคของหลอดเลือดในสมอง ตลอดจนการมีสมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมลง ดังนั้นผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจการนอนหลับ (polysomnogram) ก่อนที่จะพิจารณาการรักษาต่อไป
ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea) (104 downloads )