ผลงานวิจัย เรื่อง ศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้สายเครื่องช่วยหายใจชนิดใช้ครั้งเดียวกับชนิดใช้ซ้ำต่ออัตราการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจและค่าใช้จ่ายหออภิบาลการหายใจโรงพยาบาลศิริราช (A Comparison study between using disposable and non-disposable ventilator circuits on Ventilator associated pneumonia and health care cost at Respiratory care unit, Siriraj hospital)
ชื่อสมาชิก :Jarunee Songmuang, M.N.S, Pachcharat Akatat, R.N., Sasithorn Wattanagulanurak, M.N.S, Nuttapol Rittayamai, M.D., Siriporn Sripalakit, MA. (Env.)
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ (ventilator associated pneumonia: VAP) และต้นทุนค่าใช้จ่ายชุดสายเครื่องช่วยหายใจ ในผู้ป่วยที่ใช้สายเครื่องช่วยหายใจชนิดใช้ครั้งเดียวกับชนิดใช้ซ้ำ
การวิจัยเชิงสังเกต ประกอบด้วย (1) การวิเคราะห์แบบย้อนหลัง (retrospective chart review) ในกลุ่มที่ใช้สายเครื่องช่วยหายใจชนิดใช้ซ้ำ (non-disposable ventilator circuits) เก็บข้อมูลตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2561 ถึง ธันวาคม 2562 จำนวน 193 ราย และ (2) การวิเคราะห์แบบไปข้างหน้า (prospective cohort study) ในกลุ่มที่ใช้สายเครื่องช่วยหายใจชนิดใช้ครั้งเดียว (disposable ventilator circuits) เก็บข้อมูลตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2563 ถึง ตุลาคม 2564 จำนวน 166 ราย เลือกตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงจากประชากรที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ได้แก่ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่หออภิบาลการหายใจอายุรกรรม โรงพยาบาลศิริราช อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่ได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง เก็บข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกส่วนบุคคล แบบบันทึกต้นทุนค่าใช้จ่าย รายงานการเฝ้าระวังโรค และแบบประเมินความพึงพอใจของบุคลากรต่อชุดสายเครื่องช่วยหายใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย และสถิติเปรียบเทียบ กำหนดค่า P <0.05 ถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ และใช้โปรแกรม Minitab (control chart) ประเมินความผันแปรของการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ
วิธีดำเนินการวิจัย :การวิจัยนี้เป็นการศึกษาความผันแปรของอุบัติการณ์เกิด VAP ประชากรที่ศึกษาคือจำนวนวันการใช้เครื่องช่วยหายใจและจำนวนครั้งการเกิด VAP โดยผู้ป่วยที่เข้าร่วมวิจัยจะต้องมีคุณสมบัติครบเกณฑ์ (inclusion criteria) ดังนี้ (1) ใส่ท่อช่วยหายใจหรือเจาะท่อหลอดลมคอ (2) ใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างน้อย 48 ชั่วโมง (3) อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และ (4) ยินยอมเข้าร่วมโครงการวิจัย ส่วนเกณฑ์การคัดออกผู้ร่วมวิจัย (exclusion criteria) มีเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ (1) ตั้งครรภ์ (2) ใช้เครื่องช่วยหายใจไม่ครบ 48 ชั่วโมง และ (3) ผู้ป่วยปฏิเสธเข้าร่วมโครงการวิจัย ใช้หลักการคำนวณขนาดตัวอย่างของ The American society of testing and material ที่ได้กำหนดไว้ว่าขนาดตัวอย่างที่น้อยที่สุดต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 1/U bar และขนาดที่เหมาะสมคือ 4/U bar (U bar คืออัตราเฉลี่ยของการเกิด VAP/1000 ventilator days) งานวิจัยนี้คำนวนขนาดตัวอย่างโดยใช้อัตราการเกิด VAP ช่วงเดือนมกราคม 2561-ธันวาคม 2562 เฉลี่ย 10.8 /1000 ventilator days ดังนั้นขนาดตัวอย่างที่เหมาะสมต่อ 1 ชุดข้อมูลคือ 1/0.0108–4/0.0108 ซึ่งเท่ากับ 93-370 ventilator days โดย U-Control chart ที่สามารถเปรียบเทียบและแสดงความผันแปรของการเกิด VAP ได้อย่างมีคุณภาพจะต้องมีชุดข้อมูลอย่างน้อยกลุ่มละ 15 ชุดข้อมูล ซึ่งวิจัยได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มคือ (1) กลุ่มที่ใช้สายเครื่องช่วยหายใจชนิดใช้ซ้ำ เก็บข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561- ธันวาคม 2562 รวม 15 ชุดข้อมูล มีผู้ป่วยเข้าเงื่อนไข 193 ราย และ (2) กลุ่มที่ใช้สายเครื่องช่วยหายใจชนิดใช้ครั้งเดียว เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้บางเดือนมีจำนวนวันเครื่องช่วยหายใจน้อยกว่า 93 จึงต้องรวม 2 เดือนเป็น 1 ชุดข้อมูล กลุ่มนี้จึงเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563-ตุลาคม 2564 รวม 17 เดือน (15 ชุดข้อมูล) มีผู้ป่วยเข้าเงื่อนไข 166 ราย
ขอขอบคุณ: Volume 75, No.3: 2023 Siriraj Medical Journal
เว็บไซต์: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/sirirajmedj/index
ดาวน์โหลดบทคัดย่อ (ภาษาไทย) ศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้สายเครื่องช่วยหายใจชนิดใช้ครั้งเดียวกับชนิดใช้ซ้ำต่ออัตราการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจและค่าใช้จ่ายหออภิบาลการหายใจโรงพยาบาลศิริราช (74 downloads )