ผลงานวิจัย เรื่อง การคัดกรองปัจจัยเสี่ยงที่บ่งชี้การใช้เมทแอมเฟตามีนในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์ (Screening the risk factors for methamphetamine use in pregnant women not receiving prenatal care)

ชื่อสมาชิก : Piyanuch Saysukanun, Kullathorn Thephamongkhol, Pathamaporn Tiengladdawong,
Julaporn Pooliam, Porndara Sae Chua and Watcharaporn Inkasung

สตรีตั้งครรภ์ที่ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่ไม่ให้ข้อมูลการใช้สารเสพติดและไม่ฝากครรภ์ การคัดกรองการใช้สารเสพติดส่วนใหญ่จึงทำได้เมื่อมาคลอดบุตร ซึ่งความแม่นยำในการคัดกรองขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่  ในกรณีสตรีตั้งครรภ์ไม่แสดงอาการผิดปกติหรือไม่ให้ประวัติการใช้สารเสพติด มารดาและทารกจะไม่ได้รับการดูแลรักษาเพื่อป้องกันผลกระทบจากการใช้สารเสพติดภายหลังคลอด

วัตถุประสงค์: เพื่อสร้างแบบคัดกรองปัจจัยเสี่ยงที่บ่งชี้การใช้เมทแอมเฟตามีนในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์ที่มีความถูกต้องของการทำนายมากกว่าการคัดกรองแบบเดิม

วิธีการศึกษา: การวิจัยแบบไปข้างหน้าในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์ จำนวน 125 คน ที่มาคลอดบุตรในห้องคลอด โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างเดือนมกราคม 2560 ถึงมกราคม 2562 ซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่บ่งชี้การใช้เมทแอมเฟตามีนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างน้อย 1 ปัจจัย ประกอบด้วย การมีรอยสัก, การสูบบุหรี่, การดื่มเหล้า, การมีอาการไม่สงบ (Agitation), การอยู่ร่วมกับคู่สมรสหรือเพื่อนที่ใช้เมทแอมเฟตามีน, ความดันโลหิต ≥130/90 มิลลิเมตรปรอท และชีพจร ≥100/นาที วิเคราะห์ข้อมูลระหว่างปัจจัยเสี่ยงกับการใช้เมทแอมเฟตามีน (ผลตรวจแอมเฟตามีนในปัสสาวะและประวัติการใช้เมทแอมเฟตามีนในขณะตั้งครรภ์) ด้วยสถิติการถดถอยโลจิสติก เพื่อหาจุดตัดที่เหมาะสม ความไว ความจำเพาะและความถูกต้องของการทำนายจากแบบคัดกรองที่สร้างขึ้น โดยการใช้พื้นที่ภายใต้เส้นโค้ง (AUC) และตรวจสอบภายในด้วยสถิติ C วิธี bootstrapping

ผลการวิจัย: ปัจจัยเสี่ยงที่บ่งชี้การใช้เมทแอมเฟตามีนในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์มี  4 ปัจจัย ได้แก่ การอยู่ร่วมกับคู่สมรสหรือเพื่อนที่ใช้เมทแอมเฟตามีน (odds ratio = 17.28, ค่าคะแนน = 3) การสูบบุหรี่ (7.73, 2) การดื่มสุรา (3.81, 1) และความดันโลหิต ≥130/90 มิลลิเมตรปรอท (2.47, คะแนน = 1) ความถูกต้องของการทำนายด้วยแบบคัดกรองปัจจัยเสี่ยงทั้ง 4 ตัวคือร้อยละ 87 (AUC = 0.87, 95% CI, 0.81–0.93) โดยค่าคะแนนปัจจัยเสี่ยงรวม ≥3 เป็นจุดตัดที่บ่งชี้การใช้เมทแอมเฟตามีนในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์ที่เหมาะสมคือ มีความไวร้อยละ 81 ความจำเพาะร้อยละ 82 มีค่าการทำนายเป็นบวกและค่าการทำนายเป็นลบ ร้อยละ 83 และร้อยละ 81 ตามลำดับ ความถูกต้องของการทำนายซ้ำจากการตรวจสอบภายในด้วยสถิติ C วิธี bootstrapping เท่ากับร้อยละ 86 (AUC = 0.86, 95% CI, 0.81–0.93) เปรียบเทียบกับการคัดกรองแบบเดิมโดยพยาบาลในห้องคลอด ที่มีความไวร้อยละ 95 ความจำเพาะร้อยละ 23 และความถูกต้องของการทำนายร้อยละ 59

สรุป: แบบคัดกรองปัจจัยเสี่ยงที่ได้รับการพัฒนานี้สามารถบ่งชี้การใช้เมทแอมเฟตามีนในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์ได้ดีกว่าการคัดกรองแบบเดิม ดังนั้นควรศึกษาและค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่บ่งชี้การใช้เมทแอมเฟตามีนในสตรีตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์เพิ่มเติม เพื่อให้มีแบบคัดกรองการใช้สารเสพติดที่ครอบคลุมสตรีตั้งครรภ์ทุกกลุ่ม

การนำไปใช้: แบบคัดกรองปัจจัยเสี่ยงแบบพกพาสามารถนำไปใช้คัดกรองการใช้เมทแอมเฟตามีนในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์ทุกรายได้ โดยคะแนนรวมของปัจจัยเสี่ยงสามารถเทียบกับ nomogram ความน่าจะเป็นในการใช้เมทแอมเฟตามีน ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ตัดสินใจให้การรักษา สืบค้นประวัติเพิ่มเติมและ/หรือส่งแลปตรวจปัสสาวะหาแอมเฟตามีน ช่วยลดความคลาดเคลื่อนในการคัดกรองการใช้เมทแอมเฟตามีนในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์ได้ดีกว่าการคัดกรองแบบเดิม

เว็บไซต์: https://obgyn.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/jog.14901

ดาวน์โหลดบทคัดย่อ (ภาษาไทย) การคัดกรองปัจจัยเสี่ยงที่บ่งชี้การใช้เมทแอมเฟตามีนในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์ (65 downloads )

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.