จัดการความรู้ (KM) อย่างไร ให้สำเร็จ
เรียบเรียงโดย เอกกนก พนาดำรง
“การจัดการความรู้” (Knowledge Management) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า KM คือ กระบวนการที่เป็นระบบในการบริหารจัดการให้บุคลากรนำข้อมูลสารสนเทศและความรู้/สินทรัพย์ความรู้ของหน่วยงาน/องค์กรไปใช้ในการปฏิบัติงานประจำ โดยมีกระบวนการส่งเสริมให้บุคลากรร่วมกันสร้าง แบ่งปัน ต่อยอด ข้อมูลสารสนเทศและความรู้ที่สำคัญและจำเป็นในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร เพื่อสนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจ และจุดมุ่งหมายขององค์กร ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กำหนดเรื่องการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นกลยุทธ์หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของคณะฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 และใช้กลยุทธ์การจัดการความรู้ที่บูรณาการกับกระบวนการพัฒนาคุณภาพในรูปแบบ Siriraj Link-Share-Learn ตั้งแต่ปี 2551 ทำให้มีกระบวนการดึงอัจฉริยภาพของบุคลากรและทีมงาน เกิดการถ่ายโอน แบ่งปัน และสร้างความรู้/ทักษะปฏิบัติ/สารสนเทศสำคัญ/ประสบการณ์ ผนวกกับความรู้/แนวปฏิบัติที่ดีจากภายใน/ภายนอกคณะฯ รวมทั้งมีการจัดเก็บและเผยแพร่ความรู้ที่พร้อมใช้และเป็นสินทรัพย์ความรู้ (Knowledge asset) ของหน่วยงาน/ภาควิชาและคณะฯ ทำให้ยกระดับการพัฒนาคุณภาพกระบวนการทำงาน/ผลิตภัณฑ์/บริการและสร้างนวัตกรรมในการทำงานประจำที่ตอบสนองความต้องการชองผู้ใช้บริการ/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ และเป้าหมายของคณะฯ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรควบคู่กัน มีการต่อยอดขยายผลในการใช้ความรู้นั้นในการทำงานประจำ (Organization Learning : OL) จึงส่งเสริมและยกระดับการเรียนรู้ทั้งระดับบุคคล/หน่วยงานและคณะฯ เกิดวัฒนธรรมคุณภาพ วัฒนธรรมการเรียนรู้ และเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning organization : LO) ตามแผนกลยุทธ์ของคณะฯ อีกด้วย
จากการดำเนินการของคณะฯ พบว่า ปัจจัยความสำเร็จในการจัดการความรู้ ก็คือ ความรู้ความเข้าใจของผู้บริหารองค์กรและคนในองค์กรในแนวคิด วัตถุประสงค์ และกระบวนการบริหารจัดการความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ได้แก่ ผู้รับบริการ บุคลากร/ทีมงาน/หน่วยงาน และเป้าหมายขององค์กร ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ APQC (American Productivity & Quality Center) ได้รายงานว่า อุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อการใช้การจัดการความรู้ คือ การรับรู้ เวลา และวัฒนธรรม นั่นคือ “คน” ไม่ทราบถึงเครื่องมือและแนวทางการจัดการความรู้ รวมถึงการที่องค์กรไม่ให้เวลาแก่บุคลากรในการมีส่วนร่วมดำเนินการที่ชัดเจน ทำให้การเข้าร่วม KM จึงเป็นเรื่องยากหรือไม่น่าสนใจ
ดังนั้น การจัดการความรู้ (KM) ให้ประสบความสำเร็จนั้น เราต้องเข้าใจและจัดการกับปัญหาต่าง ๆ แล้วการจัดการความรู้ก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่
จัดการความรู้ (KM) อย่างไร ให้สำเร็จ (630 downloads )