ความรู้ CoP แสง เสียง และอุปกรณ์
เรื่อง การถ่ายคลิปวิดีโอ ด้วยโทรศัพท์มือถือให้เสียงมีคุณภาพ
เรียบเรียงโดย ดนัย อ่วมอิ่มพืช
…หากคลิปวิดีโอที่ถ่ายมามีความน่าสนใจและความคมชัดที่ดี แต่เสียงวิดีโอไม่มีคุณภาพ จะส่งผลให้ความน่าสนใจของวิดีโอลดลง เพราะผู้รับชมเกิดความสับสน เบื่อหน่าย จนเลิกรับชมในที่สุด บทความสาระความรู้ชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) ครั้งนี้จึงได้นำเสนอเทคนิคการใช้โทรศัพท์ให้เสียงมีคุณภาพ ช่วยให้คลิปวิดีโอมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น…
ปัญหาเสียงวิดีโอไม่มีคุณภาพ
1. เสียงสะท้อน (Echo) เกิดเมื่อถ่ายวิดีโอ เสียงของผู้ถูกสัมภาษณ์เข้าสู่ไมโครโฟนในโทรศัพท์มือถือ ขณะเดียวกันเสียงจะไปกระทบกับผนังหรือเพดาน สะท้อนกลับเข้าโทรศัพท์มือถือซ้ำ ๆ เนื่องจากไม่ได้ติดตั้งวัสดุซับเสียง (Sound Absorption) ทำให้อาการเสียงสะท้อนในวิดีโอที่ถ่ายไปด้วย ลักษณะสถานที่เกิดเสียงสะท้อน เช่น บริเวณโถงทางเดิน เนื่องจากเป็นพื้นที่โล่ง พื้นเป็นหิน ผนังเป็นคอนกรีต กระจกและเพดานมีความสูงทำให้การซับเสียงทำได้ไม่ดี
2. เสียงรบกวน (Noise) เกิดจากเสียงที่เกิดขึ้นรอบ ๆ บริเวณสถานที่ถ่ายวิดีโอที่เราไม่ต้องการ ได้แก่ เสียงลมเครื่องปรับอากาศ เสียงเครื่องฟอกอากาศ เสียงโทรศัพท์ เสียงยานพาหนะ เสียงพูดคุย เสียงรถเข็น เสียงการก่อสร้าง มีความดังของเสียงมากเกินไป จนถูกบันทึกเข้ามาในวิดีโอด้วย ลักษณะสถานที่เกิดเสียงรบกวน เช่น พื้นที่โล่ง ชุมชน สวนสาธารณะ เป็นต้น เนื่องจากต้องระวังเสียงรบกวนที่มาจากการจราจร หรือคนอื่น ๆ
3. เสียงเบา (Audio Low Level) เกิดจากเสียงวิดีโอที่ถูกบันทึกมาแล้วมีระดับเสียงเบาเกินไป เมื่อนำวิดีโอไปรับชมจะได้ยินเสียงวิดีโอเบา และอาจมีเสียงรบกวน หรือเสียงก้องสะท้อนแทรกเข้ามาได้ ลักษณะของเสียงเบา สามารถวัดจากระดับเสียงไมโครโฟน Audio Level Record ขณะบันทึกวิดีโอ ซึ่งจากตัวอย่าง (รูปที่ 3) จะพบว่าระดับอยู่ประมาณ 15% (เลข 20) ซึ่งถือว่าเบา สาเหตุจากผู้ถูกสัมภาษณ์ยืนห่างจากโทรศัพท์ ขณะถ่ายวิดีโอประมาณ 2.2 เมตร ทั้งนี้ระดับเสียงวิดีโอที่มีความดังเหมาะสมจะอยู่ที่ระดับ 50% ถึง 80% (เลข 7 ถึง เลข 3)
การถ่ายวิดีโอให้ได้คุณภาพเสียงที่ดี
1. การแก้ไขปัญหาเสียงสะท้อน
1.1 พื้นที่ถ่ายวิดีโอต้องไม่มีลักษณะที่เสี่ยงต่อการเกิดเสียงสะท้อน ผนัง เพดาน พื้น ไม่ควรเป็นวัสดุแข็งเรียบ ได้แก่ กระจก ไม้ เซรามิก ปูน โลหะ ไม่ควรเป็นห้องโถงใหญ่เนื่องจากเสียงมีพื้นที่ในการสะท้อนได้ง่าย
1.2 ให้ทดสอบเสียงพูดในพื้นที่ถ่ายวิดีโอด้วยการตะโกนจากจุดถ่ายวิดีโอไปฝั่งตรงข้าม หากมีเสียงสะท้อนกลับมายังจุดทดสอบแสดงว่าเป็นจุดถ่ายวิดีโอที่ไม่ดี
1.3 เลือกพื้นที่ถ่ายวิดีโอที่มีสิ่งของอยู่ เช่น ตู้เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ชั้นหนังสือ เพราะเป็นวัสดุช่วยลดเสียงสะท้อนได้ดี
2. การแก้ไขปัญหาเสียงรบกวน
2.1 ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่ควรยืนใกล้เครื่องปรับอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงลมจากเครื่องปรับอากาศ
2.2 หากเครื่องปรับอากาศมีเสียงดังรบกวน เนื่องจากมีการใช้งานมานาน ควรเปิดเครื่องทิ้งไว้ให้อากาศเย็นก่อนการถ่ายวิดีโอ และปิดเครื่องปรับอากาศเมื่อเริ่มถ่ายวิดีโอ
2.3 หากมีเสียงอาคารก่อสร้างเจาะเคาะทุบตัวอาคารจนเกิดเสียงดัง ควรแจ้งหยุดการก่อสร้างก่อน โดยควรแจ้งช่วงเวลาที่ให้หยุดก่อสร้างเป็นกิจจะลักษณะและไม่ควรเกิน 30 นาที
2.4 หากมีเสียงคนคุยกันในพื้นที่ถ่ายวิดีโอ ให้ขออนุญาตหยุดคุยกันก่อน
2.5 หากมีการใช้งานป้ายประชาสัมพันธ์ดิจิทัลบริเวณพื้นที่ถ่ายวิดีโอ ให้ขออนุญาตปิดการใช้งานก่อน
2.6 หากพื้นที่ถ่ายวิดีโอมีรถเข็นหรือคนเดินผ่าน ทีมงานถ่ายวิดีโอควรกั้นทางเดิน เพื่อขออนุญาตไม่ให้เดินผ่านชั่วคราว เมื่อหยุดถ่ายวิดีโอจึงให้สัญญาณเดินผ่านไปได้
2.7 เลือกพื้นที่ส่วนตัวถ่ายวิดีโอ เช่น ห้องทำงานส่วนตัว ห้องประชุมหน่วยงาน ห้องรับรองแขก โต๊ะทำงานส่วนตัว เพราะห้องเหล่านี้เป็นพื้นที่ปิดช่วยลดเสียงรบกวนและเสียงสะท้อนได้
3. การแก้ไขปัญหาเสียงเบา
3.1 หากเป็นพื้นที่เปิดโล่งไม่มีผนังกั้น เช่น สนามหญ้า สนามกีฬา ทางเดิน ลานพระบิดา ผู้ถูกสัมภาษณ์ควรยืนห่างจากโทรศัพท์ที่ใช้ถ่ายวิดีโอไม่เกิน 0.5 เมตร
3.2 หากเป็นพื้นที่ปิดมีผนังกั้น เช่น ห้องสมุด ห้องทำงานส่วนตัว ห้องประชุม ผู้ถูกสัมภาษณ์ควรยืนห่างจากโทรศัพท์ถ่ายวิดีโอไม่เกิน 1 เมตร
3.3 ผู้ถูกสัมภาษณ์ควรนั่งหรือยืนนิ่ง ๆ ไม่ควรเคลื่อนไหวเพราะจะทำให้สัญญาณเสียงมีระดับเสียงไม่สม่ำเสมอ
3.4 ผู้ถูกสัมภาษณ์ควรพูดด้วยเสียงดังและไม่ควรใส่หน้ากากผ้า เพราะจะทำให้เสียงดรอป
3.5 ควรปรับคุณภาพเสียงวิดีโอที่บันทึกมาให้ดีขึ้นด้วย แอพพลิเคชั่น CAPCUT หรือ KINE MASTER
ดาวน์โหลดบทความได้ที่ >> การถ่ายคลิปวิดีโอ ด้วยโทรศัพท์มือถือให้เสียงมีคุณภาพ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คุณดนัย อ่วมอิ่มพืช
สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
โทร. 02 419 7433