เมื่อวันพุธที่ 16 พฤษภาคม 2561 งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เข้าร่วมศึกษาดูงาน ณ บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยงานบริหารทรัพยากรสุขภาพ (UM) เป็นผู้นำทีมบุคลากรทางการพัฒนากระบวนการทำงานจากภาควิชาและหน่วยงานต่าง ๆ ของคณะฯ เข้าศึกษาดูงาน เพื่อเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการและการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรในการคิดริเริ่มและจัดการพัฒนากระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยคุณนริศชา ต่อสุทธิ์กนก ตัวแทนบริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวแนะนำบริษัทฯ ว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรับจ้างและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันแบ่งพื้นที่เป็น 3 โรงงาน โดยดำเนินการด้านเครื่องมือแพทย์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ และด้านแผงโซลาเซลล์ ซึ่งตั้งเป้าหมายสำหรับระบบ Turn Key คือ ออกแบบ ผลิต และส่งมอบเบ็ดเสร็จโดยบริษัทฯ เพียงผู้เดียว
บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้มีการบรรยายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บางส่วน ดังนี้
1. RFID (Radio-Frequency identification) เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถรับส่งสัญญาณ โดย สามารถอ่านข้อมูลได้โดยไม่ต้องทาบบัตร เปรียบเสมือนบัตรประชาชนของสิ่งนั้น สามารถบอกได้ว่าสิ่งนั้นอยู่ที่ใด มีการบันทึกและเก็บข้อมูลไว้ ในการใช้ RFID ต้องติดตั้งตัวรับสัญญาณในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทฯ ผลิต เช่น การติด RFID ที่ผ้าขนหนูโรงพยาบาล ทำให้ทราบว่าผ้าแต่ละผืนถูกใช้อยู่ที่ ward ไหน และใช้งานมาแล้วกี่ครั้ง โดยติดตั้งตัวรับสัญญาณทุกพื้นที่ของประตูเข้า-ออก เป็นต้น
2. Medical device ทางบริษัทฯ ยกตัวอย่างเครื่องมือแพทย์ ด้านทันตกรรม คือรากฟันเทียม และ Plate for Human and Animalโดยดำเนินการผลิตทุกขั้นตอนในประเทศไทยทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงเป็นอย่างมาก
3. Smart Drug Dispense บริษัทฯ แสดงรูปแบบ และกระบวนการของเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ ที่ง่ายและไม่ซับซ้อน สามารถเลือกยาและแพ็คถุงจ่ายให้กับผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง และแสดงระบบรถเข็นยา โดยใช้หลักการ Scan RFID เพื่อแสดงข้อมูล และนำรหัสเข้าตรวจสอบ ก่อนทำการปลดล็อคช่องจ่ายยา และทำการ Scan Barcode เพื่อตัดยาอีกครั้ง ซึ่งพบว่า รถเข็นยายังมีราคาสูง ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างดำเนินการคิดหาวิธี เพื่อลดต้นทุนในส่วนนี้ ทั้งนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้เสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ Smart Drug Dispense ว่า “ในปัจจุบันชนิดยามีจำนวนมาก ยาบางชนิดไม่สามารถจัดเข้าสู่ระบบเครื่องจ่ายยาได้ บริษัทอาจต้องวางแผนระบบที่รองรับสนับสนุนการจ่ายยาแบบเดิมด้วย”
ทั้งนี้คณะศึกษาดูงาน ได้มีโอกาสเข้าชมสถานที่จริงในส่วนของโรงงานผลิต ซึ่งทำให้เห็นถึงกระบวนการ ขั้นตอนการผลิตที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และความสะอาดเป็นอย่างมาก ภายในโรงงานแบ่งพื้นที่เครื่องจักร และมอบหมายหน้าที่บุคลากรอย่างชัดเจน มีคู่มือการปฏิบัติงานติดบริเวณเครื่องจักร และจุดต่าง ๆ ที่สำคัญ
สุดท้ายนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มอบของที่ระลึกเป็นเหรียญ PEWTERแก่บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยมีคุณพร้อมพงศ์ ไชยกุล CPO (Chief Procurement Officer) เป็นตัวแทนรับมอบ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากสถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์