ปัจจุบันการพัฒนาบุคลากรในองค์กรต่าง ๆ มีการพัฒนารูปแบบ หรือวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับบุคลากร บรรลุผลตามมาตรฐานคุณภาพ ซึ่งรูปแบบของการเรียนรู้ที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถสร้างให้ผู้เรียนรู้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning)
ลักษณะเฉพาะของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning) ประกอบด้วย
- ประสบการณ์จริงในการทำงาน มีกระบวนการคิดหาวิธีในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากร และองค์กร
- การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับผู้อื่น การประชุมเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการดำเนินการ เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ในลักษณะทีมงานย่อยที่มีการทำงานร่วมกัน
- การเสนอแนะ และให้ข้อคิดเห็นเมื่อมีการดำเนินการปฏิบัติ และในบางครั้งอาจจะมีการปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
กระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning Process) มีขั้นตอนที่สำคัญดังนี้
- หัวข้อประเด็น หรือปัญหาจริง เพราะ รูปแบบการเรียนรู้จะอ้างอิงกับประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญ หรือประโยชน์ต่อบุคลากร หรือองค์กร ซึ่งต้องการแก้ไขปรับปรุง และเป็นโอกาสที่บุคลากรจะได้เรียนรู้ร่วมกัน ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น
- ภายในกลุ่มควรมีความแตกต่างทางความรู้ และประสบการณ์ มาจากต่างหน่วยงานภายในองค์กร เพื่อให้เกิดแนวคิด หรือมุมมองหลากหลาย
- มีกระบวนการเชิงรุกให้เกิดการศึกษาปัญหาอย่างต่อเนื่อง เข้าใจประเด็นปัญหา เกิดการสะท้อนแง่มุมที่หลากหลาย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ควรมีการไตร่ตรองอย่างรอบคอบเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสม
- ดำเนินการแก้ปัญหา เริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหา กำหนดเป้าหมาย ศึกษาทางเลือกและการปฏิบัติการ ประเมินผลลัพธ์ และกำหนดทิศทางในอนาคต
- การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เป็นการทบทวนการทำงานที่ผ่านมาในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ พัฒนาความรู้ความสามารถ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในบุคคล กลุ่ม และองค์กร เพื่อแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
- กำหนดหัวหน้ากลุ่ม หรือผู้ทำหน้าที่คอยทำหน้าที่กระตุ้น วางแผน ควบคุม บริหารจัดการแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมการลงมือปฏิบัติ และหาข้อสรุปของกลุ่ม
อ่านบทความเพิ่มเติม >> การเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning) (1188 downloads )
ขอขอบคุณ/แหล่งที่มา
ศุภวิทย์ ภาษิตนิรันดร์ (เซนเซเล็ก), พญ.ญาณี โชคสมงาม. (2564). “KM KNOWLEDGE MANAGEMENT”. สำนักพิมพ์วิช, กรุงเทพฯ.เรียบเรียงโดย
นายเอกราช จันทรประดิษฐ์
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล