ถอดบทเรียนการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 22
Towards Scaling Up and Resilience in Healthcare
เรื่อง “เสียงจากสนาม: บทเรียนการรับมือ COVID-19 จากพื้นที่ชายขอบ
วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 10.30 – 12.00 น.
รูปแบบผสมผสาน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ และสถานที่
ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม อาคาร 4 ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
พญ.อารีรัตน์ สิริพงศ์พันธ์ : สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี
พญ.ธิดารัตน์ ปุรณะชัยคีรี : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ผศ. นพ.พนม เกตุมาน : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ผู้ดำเนินรายการ
รศ. ดร. พญ.ภัทรวลัย ตลึงจิตร : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

พญ.ภมรรัตน์ ศรีธาราธิคุณ  ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือการแพร่ระบาด COVID-19 รอบ 3 ของโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นพื้นที่ชายขอบ เนื่องจากอยู่ติดกับประเทศเมียนมาร์ ทำให้มีประชากรหลากหลายทั้งชาวไทย ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง และชาวเมียนมาร์ โดยจุดเริ่มต้นมาจากพบการระบาดทั้งในชุมชนเมียนมาร์ โรงงาน และชาวไทย ประมาณ 600 คน ภายในคืนเดียว เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564

โรงพยาบาลแม่สอด ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนอิสลามศึกษา วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแม่สอด ทหาร ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และอาสาสมัคร ในการประสานงานจัดตั้ง ดูแลโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย รองรับผู้ป่วยต่างชาติทั้งใน และนอกเขตเทศบาลแม่สอด ประมาณ 700 คน เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากชุมชน และเป็นช่วงปิดเทอม

ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด โรงพยาบาลได้จัดตั้งศูนย์คัดแยก COVID-19 (morning call) เพื่อประสานงานแจ้งผลการตรวจ RT-PCR และรับ-ส่ง ผู้ติดเชื้อจากบ้านสู่สถานที่รักษาตัวตามอาการ หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ได้เพิ่มช่องทางการติดต่อ โดยจัดทำ QR code เพื่อลดการโทรศัพท์เข้ามาโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยลงทะเบียนเข้าระบบด้วยตนเอง โดยทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้จัดคิวนัดตรวจ RT-PCR ประเมินอาการ กำหนดสถานที่รักษาตัวสำหรับผู้ป่วย จัดส่งอุปกรณ์การแพทย์ ยารักษา และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

ดร. นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำหน้าที่ศึกษาบริเวณเขตคลองเตยร่วมกับชุมชนต่าง ๆ ในการหาแนวทางการควบคุมโรค ป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ในกลุ่มเปราะบางด้านสุขภาพ คือ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และคนพิการ

ชุมชนพัฒนาใหม่ เป็นที่แรกในเขตคลองเตย ที่มีเครือข่ายอาสาสมัคร ผู้นำชุมชน ในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ เพื่อนำมาจัดสร้างที่กักตัวในศูนย์สุขภาพชุมชน (ภาพที่ 2) เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากบ้าน ติดตามดูแลผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่กักตัวอยู่ที่บ้าน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ป้องกัน และส่งอาหารเพื่อดำรงชีพ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ตามความต้องการเฉพาะของแต่ละคน ซึ่งชุมชนแออัดเป็นพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากอาศัยกันอยู่อย่างแออัด การเคลื่อนที่ของประชากรไม่มีขอบเขตจำกัด และเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เข้าช่วยดูแลด้านการบริการสาธารณสุขไม่ทั่วถึง

พญ.สายรัตน์ นกน้อย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาบริการปฐมภูมิในคลินิกชุมชนกรุงเทพมหานคร จากการศึกษาองค์ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ระบบสุขภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชน เอกสารทางวิชาการ ผลงานวิจัยจากต่างประเทศ ในการนำมาพัฒนาศักยภาพเพื่อตอบสนองต่อปัญหาการระบาด COVID-19 กำหนดมาตรฐานการทำงาน แนวปฏิบัติสำหรับ Home Isolation และการติดตามดูแลอาการผู้ป่วยทางไกลโดยใช้ระบบ telemedicine ที่มีความจำเป็นต้องรักษาตนเองที่บ้านโดยขออาสาสมัครทางการแพทย์สนับสนุน

ปัญหาอุปสรรคในการทำ Home Isolation ของคลิกนิกชุมชน คือ การขาดแคลนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ยารักษาไม่เพียงพอ และขาดความเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งนี้การทำงานของคลินิก ซึ่งเป็นภาคเอกชน ต่างจากภาครัฐ คือ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์บนฐานเงินเดือน และบำเหน็จบำนาญ จึงจำเป็นต้องได้ผลกำไรเพื่อเลี้ยงชีพ หากทำงานแล้วมีแต่ปัญหา ขาดทุน จึงไม่คุ้มค่ากับการเสียเวลา ถึงแม้ว่ามีความตั้งใจอยากช่วยเหลือส่วนนี้

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> เสียงจากสนาม: บทเรียนการรับมือ COVID-19 จากพื้นที่ชายขอบ (215 downloads )

ผู้บันทึกบทเรียน
นายเอกราช จันทรประดิษฐ์
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.