ถอดบทเรียนการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 22
Towards Scaling Up and Resilience in Healthcare
เรื่อง “People Safety ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ด้วยหัวใจการมีส่วนร่วม”
วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 10.30 – 12.00 น.
รูปแบบผสมผสาน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ และสถานที่
ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม อาคาร 4 ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี
วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข : รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ : ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ
คุณสารี อ๋องสมหวัง : สภาองค์กรผู้บริโภค
ดร.บรรจง จำปา : รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล
นพ.ทรนง พิลาลัย : สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล
ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทุกองค์กรมุ่งเน้นความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง มีการขับเคลื่อนโครงการ 2P safety ในเรื่องความปลอดภัยผู้ป่วย (Patient safety) และความปลอดภัยบุคลากร (Personal safety) ซึ่งก้าวต่อไป มุ่งสู่ 3P safety เป็นความปลอดภัยของประชาชน (People safety) เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพสามารถขับเคลื่อนให้เกิดสุขภาวะ เป็น Well being ที่ดีของประเทศ
คุณสารี อ๋องสมหวัง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินการของสภาองค์กรผู้บริโภคที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชน วิสัยทัศน์ของสภาองค์กรผู้บริโภคคือ เป็นตัวแทนของผู้บริโภคทุกด้านเพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน โดยแนวทางการดำเนินการของสภาองค์กรผู้บริโภค มีบทบาทในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในทุกด้าน เสนอความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เจรจาไกล่เกลี่ย ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค เฝ้าระวัง เตือนภัย การเผยแพร่ข้อมูล รายงานการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ มีหน่วยประจำจังหวัด เป็นกลไกสภา โดยเป็นตัวแทนดูแล 8 ด้าน ได้แก่ การเงินและธนาคาร อาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ การขนส่งและยานพาหนะ สินค้าและบริการทั่วไป สื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริการสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย บริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยความท้าทายของงานคุ้มครองผู้บริโภค คือ 1) การสร้างความปลอดภัย ต้องสร้างความมั่นใจว่าอาหารที่กิน สินค้าที่ใช้ รถที่ขับ ถนนที่เดิน มีความปลอดภัย 2) คุณภาพชีวิต สร้างความเป็นธรรมว่าทุกคนเข้าถึงบริการที่จำเป็น การศึกษา สาธารณสุข การเงิน บำนาญประชาชน 3) สิทธิผู้บริโภคดิจิทัล ความเท่าทันดิจิทัลและความปลอดภัยในโลกดิจิทัล 4) การบริโภคที่ยั่งยืน ทำให้การบริโภคที่ยั่งยืนเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้บริโภค ในช่วงสถานการณ์โควิด ยังมีการจัดทำข้อเสนอนโยบายและมาตรการที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอต่อสำนักงานประกันสังคม ให้ออกมาตรการดูแลผู้ประกันตนที่ติดโควิด-19 ให้ชัดเจน โดยเฉพาะการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลคู่สัญญาประกันสังคม และการเข้าระบบการดูแลที่บ้าน นอกจากนั้นทางสภาฯ มีการดำเนินการคุ้มครองสิทธิและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวัง สถานการณ์ปัญหาที่มีผลกระทบต่อสิทธิผู้บริโภค เช่น มาตรฐานหน้ากากอนามัยที่วางจำหน่าย อีกประเด็นที่ทางสภาฯ ให้ความสำคัญคือ หลักเกณฑ์เงื่อนไขการเบิกจ่าย กรณีสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP ซึ่งความเข้าใจของประชาชนในกรณีฉุกเฉินมีความแตกต่างกัน กรณี 72 ชั่วโมงแรก ห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย เว้นแต่พ้นวิกฤติ มีเตียงรับย้ายแต่ผู้ป่วยปฏิเสธไม่ไปตามสิทธิ สิ่งสำคัญที่เป็นความคาดหวังของประชาชนอีกเรื่องคือ มาตรฐานและสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ระบบ เช่น บัตรทอง (โรคมะเร็งไปรักษาที่ไหนก็ได้) ประกันสังคม (ต้องเป็นหน่วยบริการคู่สัญญาเท่านั้น) ทางสภาฯ พยายามทำให้ทั้ง 2 ระบบเป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> People Safety ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ด้วยหัวใจการมีส่วนร่วม (213 downloads )
ผู้บันทึกบทเรียน
นางสาวปารวี สยัดพานิช
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล