ถอดบทเรียนการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 23
Synergy for Safety and Well-being (ผนึกกำลังเพื่อความปลอดภัยและสุขภาวะ)
เรื่อง “Work life balance for Patient and Personal Safety”
วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 – 13.45 น.
ณ ห้องสัมมนา Sapphire 204 ศูนย์การประชุม IMPACT FORUM เมืองทองธานี
วิทยากร
รศ. นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา
รศ. นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กล่าวถึงคำว่า work ไร้ balance คือการที่ใช้เวลาในการทำงานมากกว่า 60% และมีเวลาให้กับตัวเองน้อยกว่า 10% นั่นหมายความว่า บุคลากรไม่มีเวลาให้กับตนเองในการออกกำลังกาย ทำงานอดิเรกที่ชอบ หรือทำในสิ่งที่ต้องการแม้กระทั่งในวันหยุดซึ่งปัจจุบันบุคลากรสาธารณสุขในประเทศไทยกำลังประสบปัญหานี้อยู่ และยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จากการศึกษาของสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมฯ พบว่ามีแพทย์ทำงานติดต่อกันสูงถึง 120 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วควรทำงาน 80 ชั่วโมง/สัปดาห์ และในแต่ละวันยังมีเรื่องความไม่แน่นอนของเวลาการทำงานมาเกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ จากการสำรวจพบว่าแพทย์มีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสมลดลง มีอายุขัยสั้นกว่าปกติ 10 ปี มีอัตราเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไปถึง 3 เท่า และมีบางส่วนติดยาเสพติด นอกจากนี้ยังเป็นอาชีพที่มีภาวะหมดไฟ (Burn-out) สูงที่สุด
จากสถิติปี 2565 ในฐานข้อมูลของแพทยสภา ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมด 71,872 คน เป็นแพทย์เฉพาะทาง 59,097 คน มีแพทย์ที่อายุ 20-50 ปี 50,000 คน แพทย์อายุ 51-60 ปี 7,708 คน ซี่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่เวรหนักไม่ได้ ร่างกายไม่ไหว และมีบางส่วนทำงานด้านบริหารและทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ส่วนที่เหลือคือ แพทย์อาศัยอยู่ต่างประเทศ ขาดการติดต่อ ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และเสียชีวิต จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีแพทย์ประมาณ 60,000 คน ที่ต้องทำงานรองรับประชากรไทยทั้งหมด เฉพาะปี 2565 มีการผลิตแพทย์ได้โดยประมาณ 3,000 คน ในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีแพทย์ทั้งหมด 100,000 คน ต่อประชากรไทย 66 ล้านคน คิดเป็นแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 660 คน
แพทย์ในระบบราชการจะมีรายได้ประมาณ 50,000-60,000 บาท/เดือน นับรวมจากส่วนต่าง ๆ และมีค่าเฉลี่ยเวรต่อชั่วโมงไม่ถึง 100 บาท มีชั่วโมงการทำงานขั้นต่ำ 100-120 ชั่วโมง/สัปดาห์ แพทย์อีกส่วนหนึ่งจึงย้ายไปทำโรงพยาบาลเอกชนเนื่องจากรายได้ดีกว่า บางส่วนเปลี่ยนอาชีพ เช่น คลินิกเสริมความงาม ธุรกิจเสริมต่าง ๆ ซึ่งมีรายได้ขั้นต่ำ 200,000 บาท/เดือน ในขณะที่ชั่วโมงการทำงานต่ำกว่าแพทย์ในระบบราชการถึงเท่าตัว จึงทำให้อัตราแพทย์ที่จะอยู่ในระบบราชการลดน้อยลง แพทยสภายังมีการสำรวจสาเหตุการลาออกของแพทย์ พบว่า 1 ใน 3 มีสาเหตุหลักคือ ภาระงานที่หนักเกินกำลัง ไม่มีเวลาพักผ่อน และมีความเสี่ยงในการทำงาน ในขณะที่ค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับภาระงาน และชั่วโมงการทำงาน ดังนั้นหากสามารถแก้ปัญหาในประเด็นนี้ได้ จะสามารถดึงแพทย์ 1 ใน 3 กลับเข้าในระบบได้ นอกจากนี้ยังมีอีกสาเหตุหลักที่ต้องให้ความสำคัญและหาแนวทางแก้ไขคือ ปัญหาการใช้ทุนของแพทย์ เช่น ไม่มีทุนที่ต้องการในปีนั้น หรือการถูกบังคับใช้ทุนในที่ที่ไม่ต้องการ
ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องมีจำนวนแพทย์ต่อประชากร 1:1,000 ในขณะที่ประเทศไทยหากเทียบกับอัตราการผลิตแพทย์ จะมีสัดส่วนใกล้เคียงกับองค์การอนามัยโลก แต่เมื่อศึกษาลึกลงไปพบว่า แพทย์ส่วนใหญ่เลือกทำงานในกรุงเทพฯ ในขณะที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด โรงพยาบาลระดับอำเภอหรือชุมชน บางแห่งมีแพทย์เพียง 1 คน เท่านั้น และต้องทำงานบริหารไปด้วย นั่นหมายความว่า แพทย์รับภาระงานมากกว่ามาตรฐาน 10-20 เท่า และเฉลี่ยทั่วประเทศ แพทย์รับภาระงานมากกว่ามาตรฐานถึง 3 เท่า แต่ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม ในส่วนของพยาบาล องค์กรอนามัยโลกกำหนดสัดส่วนพยาบาลต่อจำนวนประชากรคือ 1:200 ซี่งในปี 2565 สัดส่วนพยาบาลต่อจำนวนประชากรในประเทศไทยคือ 1:660 นั่นคือพยาบาล 1 คนในประเทศไทยทำงานเท่ากับพยาบาล 3 คน แต่ยังได้ค่าแรงเท่าเดิม และปัจจุบันประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนพยาบาลทั้งประเทศ
ในปี 2564 ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนการใช้บริการผู้ป่วยนอกรวม 278,605,583 ครั้ง ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมผู้ป่วยใน ผู้ป่วยโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เมื่อเทียบกับจำนวนแพทย์และพยาบาลที่มี นับว่าบุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานที่หนักมากและประสบปัญหา Work ไร้ balance และเกิดโรคที่เรียกว่า ภาวะหมดไฟ (Burn out) ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นโรคที่มี ICD Code (International Classification of Diseases) กำกับอยู่ จากที่กล่าวในข้างต้นว่าแพทย์และ พยาบาลในระบบราชการมีรายได้ไม่สอดคล้องกับชั่วโมงการทำงาน ยกตัวอย่างการทำงานของแพทย์ใช้ทุนบางท่านที่ควรมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 80 ชั่วโมง/สัปดาห์ บางวันทำงานติดต่อกันมากกว่า 48 ชั่วโมงโดยไม่ได้พัก อยู่เวร 23 เวร/เดือน มีชั่วโมงการทำงานทั้งเดือน 436 ชั่วโมง จาก 744 ชั่วโมง (31 วันของการทำงาน) โดยเฉลี่ยทำงาน 14 ชั่วโมง/วัน เวรวันธรรมดา 16 ชั่วโมง เวรวันหยุด 24 ชั่วโมง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่หนักเกินกำลัง
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> Work life balance for Patient and Personal Safety (166 downloads )
ผู้บันทึกบทเรียน
นางสาวกิตติยาภรณ์ เติมกระโทก
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล